ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชุลีพร จิระพงษา, ทวีทรัพย์ ศิระปรภา, ศิริ วรรณ ดำเนินสวัสดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: การยอมรับบริการให้การปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์ในประชากรภาคเหนือของประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 8 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2543

รายละเอียด / Details:

บทนำ เนื่องจากพื้นที่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเอดส์รุนแรงที่สุดในประเทศ โครงการป้องกันควบคุมเอดส์ในปัจจุบันที่เน้นการดำเนินงานในกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของเอดส์ ในประชากรทั่วไป การไม่ทราบสถานภาพการติดเชื้อเอดส์ก่อนสมรสจะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์จากคู่สมรส การปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอดส์เป็นวิธีที่สำคัญในการป้องกันการระบาดของเอดส์ แต่ไม่ได้รับความนิยมปฏิบัติเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่กำลังจะแต่งงาน เพื่อพัฒนาบริการให้การปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์ ด้วย ข้อมูลทางระบาดวิทยาของการรับบริการ การปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์ และทดสอบวิธีการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับบริการการปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์โดยการใช้กิจกรรมกลุ่ม คณะผู้วิจัยจึงได้วางแผนการศึกษานี้ขึ้น วิธีการศึกษา การศึกษานี้ออกแบบเป็น cluster randomized trial เริ่มต้นด้วยการสุ่มประชากรที่ไม่มีคู่ขึ้นมาจาก 40 พื้นที่ในจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นตัวแทนของประชากรวัยก่อนแต่งงานของจังหวัดลำปาง พื้นที่เหล่านี้ได้รับ การจัดแบบสุ่มเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษา ขั้นตอนการเก็บข้อมูลประกอบด้วยการสัมภาษณ์ข้อมูลพื้นฐาน แจกบัตรรับบริการการปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์ฟรีเฉพาะกลุ่มศึกษาที่ได้รับเชิญเข้าร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์ และบริการการปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์เป็นเวลา 1 วัน ในหมู่บ้าน จากนั้นอาสาสมัครทุกคนจะได้รับการสัมภาษณ์อีกครั้งภาย 2 เดือนหลังจากการสัมภาษณ์ครั้งแรก ผลการศึกษา พบว่า ร้อยละ 23 ของประชากรในการศึกษา 398 คน เคยได้รับการตรวจหาการติดเชื้อเอดส์มาก่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง อาสาสมัครส่วนใหญ่มีความเห็นว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอดส์เลย(ร้อยละ 68) และส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีต่อการตรวจเชื้อเอดส์ในด้านความรู้ ความเข้าใจ พบว่ายังขาดความเข้าใจในเรื่องการแพร่เชื้อเอดส์ทางน้ำลาย ระยะที่ติดเชื้อเอดส์โดยไม่มีอาการ และความหมายของผลการตรวจหาการติดเชื้อเอดส์ เฉพาะการมาร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม ร้อยละ 71 ของกลุ่มศึกษามาเข้าร่วมทำกิจกรรม ผลจาก การวิเคราะห์ด้วยวิธี multiple regression พบว่า ภายในเวลา 2 เดือน อาสาสมัครที่อยู่ในกลุ่มศึกษามารับบริการการปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์ ร้อยละ 12.34 เทียบกับร้อยละ 4.23 ของผู้ที่อยู่ในกลุ่มควบคุม ( risk ratio = 2.92 95% confidence interval = 1.27-6.74) หรือกลุ่มศึกษารับบริการมากกว่ากลุ่มควบคุมร้อยละ 8 (risk difference = 8.11% 95% confidence interval = 7.15-9.07%) นอกเหนือจากการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม ปัจจัยที่มีผลต่อการมาใช้บริการ ได้แก่ ประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เคยมีสามีหรือภรรยามาก่อน มีความตั้งใจที่จะตรวจอยู่แล้ว และเคยทำกิจกรรมเกี่ยวกับเอดส์ วิจารณ์และสรุป วิธีการกิจกรรมกลุ่มที่ได้รับการทดสอบในการศึกษานี้สามารถเพิ่มความยอมรับการใช้บริการการปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์ แต่ไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงในการส่งเสริมการใช้บริการการปรึกษาและตรวจเชื้อเอดส์ในประชากรที่ไม่มีคู่ในภาคเหนือของประเทศไทย

Keywords: การให้การปรึกษา, ปรึกษา, เอดส์, โรคเอดส์, ผู้ติดเชื้อเอดส์, counseling, counselling, psychology, aids, hiv

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง

Code: 200430008216

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -