ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จเด็ด ดียิ่ง และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การระบาดของโรคทางจิต : อาการเป็นลมของนักเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่ง ในจังหวัดมุกดาหาร 2542

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 8 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2543

รายละเอียด / Details:

บทนำ วันที่ 14 กันยายน 2542 กองระบาดวิทยาได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลหนองสูงจังหวัดมุกดาหารว่า ตั้งแต่วันที่ 1-14 กันยายน 2542 มีผู้ป่วยนักเรียนหญิง จำนวน 13 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยอาการเป็นลม หน้ามืดเฉียบพลัน และหายเป็นปกติโดยไม่ได้รับการรักษาใด ๆ คณะสอบสวนได้ออกสอบสวนโรคตั้งแต่วันที่ 17-23 กันยายน 2542 เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค ศึกษาลักษณะทางระบาดวิทยาและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรค รวมทั้งการควบคุมป้องกันโรค วิธีการศึกษา ได้ศึกษาข้อมูลการเจ็บป่วยจากบันทึกการเจ็บป่วยของนักเรียนที่โรงเรียนและโรงพยาบาล ศึกษาเชิงพรรณนาเกี่ยวกับภูมิหลังของท้องถิ่น ปัจจัยทางสังคมความเชื่อโดยการศึกษาเชิงคุณภาพ ยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจสภาพจิตโดยจิตแพทย์ ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนาโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยด้วยแบบสอบถามนิยามผู้ป่วยคือ นักเรียนหญิงที่มีอาการเป็นลมอย่างน้อย 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1-20 กันยายน 2542 และได้รับการยืนยันการวินิจฉัยจากจิตแพทย์ ศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์(Retrospective study) เพื่อหาความสัมพันธ์ของโรคและปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการได้แก่ ความสัมพันธ์ในครอบครัวเพื่อนสนิท การอาศัยอยู่กับบิดามารดาโดยใช้นิยามผู้ป่วยเช่นเดียวกับการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา ผลการศึกษา ผู้ป่วยได้รับการยืนยันว่าป่วยด้วยโรคอุปทาน ทั้งสิ้น 20 ราย เป็นนักเรียนหญิงทั้งหมดโดยไม่พบความผิดปกติของโรคทางกาย อัตราป่วยจำเพาะของนักเรียน หญิงเป็นร้อยละ 15.4 (20/160) อายุเฉลี่ยของนักเรียนหญิงเป็น 11 ปี (10-13) ผู้ป่วยทุกรายมีอาการเป็นลม ร้อยละ 80 มีอาการหน้ามืดร่วมด้วย ผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่ 1-8 ครั้ง เป็นนานครั้งละประมาณ 30 นาที จากนั้นหายเป็นปกติ ผลการทดสอบทางจิตวิทยาพบว่า บุคลิกภาพผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นแบบ Weak ego strength (ร้อยละ 94) ไม่พบความขัดแย้งในโรงเรียนหรือในชุมชน จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการระบาดครั้งนี้โดยใช้ Multiple logistic regression พบว่าปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการ ได้แก่ การอาศัยอยู่กับญาติ (OR=16.95 CI 1.3-217.8)การเป็นเพื่อนสนิทกับผู้ป่วยรายแรก (OR=15.95% CI 1.1-211.8)และความกลัวที่เห็นเพื่อนป่วย ( OR = 8.4% 95% CI 1.7 – 42.4) วิจารณ์และสรุปผล กลุ่มอาการเป็นลมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นการระบาดของโรคทางจิตของโรคอุปาทาน (Mass conversion disorder) การศึกษาครั้งนี้บ่งชี้ว่าผู้ป่วยที่ขาดความอบอุ่นของครอบครัวจากการที่ต้องอาศัยอยู่กับญาติ การเป็นเพื่อนสนิทในกลุ่มผู้ป่วยความกลัวที่เห็นเพื่อนป่วยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรค หลังจากที่ได้มีการแยกผู้ป่วยจากกลุ่มปกติ การบำบัดทางจิตแบบกลุ่ม การชี้แจงให้ครอบครัวชุมชนเกิดความเข้าใจแล้ว ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น เนื่องจากในช่วงเวลาเดียวมีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองระบาดวิทยาจึงได้จัดทำคู่มือในการดำเนินสอบสวนควบคุมป้องกันโรคสำหรับเจ้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ

Keywords: ระบาดวิทยา, ความชุก, การระบาดของโรคทางจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, อุปทานหมู่, อุปทาน, นักเรียน, mass hysteria, epidemiolgy, prevalence, epidemic

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: กองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200430008219

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -