ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดวงตา ไกรภัสสร์พงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: สภาวะสุขภาพจิต การเผชิญปัญหาและการสนับสนุนทางสังคมของแรงงานไทย ที่สมัครไปทำงานต่างประเทศ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 8 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2543

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์/วิธีการ การวิจัยเชิงพรรณนาเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพจิต วิธีการเผชิญปัญหา การสนับสนุนทางสังคมของแรงงานไทยที่สมัครไปทำงานต่างประเทศ และพรรณนาสภาวะสุขภาพจิตโดยปัจจัยทางประชากรและสังคม วิธีการเผชิญปัญหา และการสนับสนุนทางสังคม ศึกษาในผู้ใช้แรงงานไทยที่ตรวจสุขภาพ ณ หน่วยตรวจสุขภาพแรงงานไทยไปต่างประเทศของโรงพยาบาลศิริราชจำนวน 259 คนระหว่างวันที่ 19 มีนาคม 2542 ถึง 9 เมษายน 2542 โดยใช้แบบสอบถามซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ข้อมูลทางประชากรและสังคม General Health Questionnaire-28 (GHQ-28) Jalowice Coping Scale และ Social Support Questionnaire วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจงความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย Pearsons chi-square และ Nonparametric Test ผลที่ได้ ความชุกของผู้มีสุขภาพจิตที่ไม่เป็นสุขมีเพียงร้อยละ 5 ส่วนใหญ่เป็นชาย อายุอยู่ระหว่าง 22-35 ปี แต่งงานแล้ว ระดับการศึกษาต่ำ ภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่างงาน มีหนี้สินและมีภาระต้องส่งเสียเลี้ยงดูสาเหตุในการตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้ไปทำงานต่างประเทศมากกว่า 1 แสนบาท ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าชั้นประถม และผู้ที่มีหนี้สินมีสุขภาพจิตที่ไม่เป็นสุขมากกว่า การใช้วิธีการเผชิญปัญหาโดยเน้นที่การแก้ปัญหาในกลุ่มที่มีสุขภาพจิตปกติที่ไม่เป็นสุขไม่แตกต่างกันส่วนใหญ่ใช้วิธีการเข้าไปจัดการกับปัญหาด้วยตนเอง กลุ่มที่มีสุขภาพจิตที่ไม่เป็นสุขมีการเผชิญปัญหาโดยเน้นวิธีการจัดการกับอารมณ์ในเชิงลบและใช้การปลอบใจตนเองมากกว่า ในขณะที่กลุ่มที่มีสุขภาพจิตปกติใช้วิธีการสวดมนต์เพื่อจัดการกับอารมณ์มากกว่า พ่อและแม่เป็นแหล่งสนับสนุนทางสังคมที่ดีที่สุด ในขณะที่การสนับสนุนจากพี่น้อง ลูก และจากนอกครอบครัวค่อนข้างต่ำ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษามีความพอใจในการสนับสนุนทางสังคมที่ตนเองได้รับโดยกลุ่มที่มีสุขภาพจิตปกติมีความพอใจมากกว่า สรุปและข้อเสนอแนะ ในการเตรียมความพร้อมผู้ใช้แรงงานไทยไปต่างประเทศควรเสริมจุดแข็งในการเผชิญปัญหาและเตรียมในการแก้ไขจุดด้อยในการเผชิญปัญหา นอกจากนี้ควรเสริมแรงสนับสนุนทางสังคมที่ดีอยู่และเพิ่มทักษะในการแสวงหาแรงสนับสนุนทางสังคมจากกลุ่มเพื่อนผู้ใช้แรงงานด้วยกัน ควรมีการศึกษาหาอัตราการเกิดสภาวะสุขภาพจิตที่ไม่เป็นสุขของแรงงานไทยที่อยู่ในต่างประเทศพร้อมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาใช้ในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของผู้ใช้แรงงานไทยในต่างประเทศ

Keywords: สุขภาพจิต, แรงงานไทย, ภาวะสุขภาพจิต, mental health, labour, psychology

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลนิติจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200430008221

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -