ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เกตุสุดา ชินวัตร, รจิต เจียงวรรธนะ, สุนทรี ศรีโภโต

ชื่อเรื่อง/Title: การให้บริการปรึกษาก่อนพบแพทย์ ในผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ ณ ตึกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสวนปรุง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 8 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2543

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการให้บริการปรึกษาก่อนพบแพทย์ในผู้ป่วยและญาติที่มารับบริการ ณ ตึกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสวนปรุง วิธีการศึกษา การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาแบบสำรวจ (Exploratory)กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเก่าหรือญาติทุกคนที่มา รพ.พยาบาลเพื่อพบแพทย์ในเวลาราชการซึ่งจะต้องผ่านการให้บริการปรึกษาก่อนพบแพทย์ โดยบริการปรึกษาประกอบด้วย 1. การซักถามถึงอาการทางจิต สาเหตุที่ทำให้มาโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ปัญหาทางจิตสังคมและความต้องการของผู้ป่วยและญาติ 2. การรับฟังปัญหา ช่วยจัดการอารมณ์ ความรู้สึกและให้กำลังใจ 3. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 4. การช่วยเหลือด้านการสื่อสาร เพื่อลดความขัดแย้งในครอบครัว 5. การประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยและญาติ หลังได้รับบริการปรึกษาก่อนพบแพทย์สถิติที่ใช้คือ Chi-square และค่าร้อยละ ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่าง 3,016 คน เป็นชาย 51.4% หญิง 48.6% มีอาการทางจิตขณะมาโรงพยาบาล 61.5 % โดยสัดส่วนของชายกับหญิงที่มีอาการขณะมาโรงพยาบาลไม่แตกต่างกัน (p‹0.05)สาเหตุ 3 อันดับแรกที่เกี่ยวข้องกับอาการทางจิตจนต้องมาพบแพทย์ คือ ยาหมด (17.4%) ขาดยาหรือไม่กินยา (15.9%) กินยามตามแพทย์สั่งแต่อาการไม่ดีขึ้น (12.3%) ผู้ป่วยชายที่มีอาการทางจิตจะพบว่ามาโรงพยาบาลด้วยสาเหตุจากการขาดยา ไม่กินยาและการทำลายข้าวของมากกว่าผู้ป่วยหญิงอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มตัวอย่าง 15.5% ของทั้งหมดจะมีปัญหาทางจิตสังคมที่พบมาก 3 อันดับแรก คือ ปัญหาญาติไม่พร้อมจะดูแล (6.6%) ว่างงาน (5.5%) และมีความขัดแย้งในครอบครัว (5.1%)และพบว่าในผู้ป่วยหญิงจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งในครอบครัวสูงกว่าผู้ป่วยชาย (p<0.05) ปัญหาทางจิตสังคมที่พบว่าสัมพันธ์กับการมีอาการทางจิตของผู้ป่วยอย่างมีนัยสำคัญ คือ ญาติไม่พร้อมจะดูแล มีความขัดแย้งในครอบครัว ผู้ป่วยทำงานไม่ได้และว่างงาน บริการที่ผู้ป่วยหรือญาติได้รับจาก Pre-service counseling 3 อันดับแรก คือ รับฟังปัญหา ช่วยจัดการอารมณ์ ความรู้สึก ให้กำลังใจ (89%)ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค (65.1%) และช่วยเหลือด้านการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้งในครอบครัว (34.1%) กลุ่มตัวอย่าง 1.1 % เปลี่ยนใจไม่ต้องการพบแพทย์หลังจากที่ได้รับการปรึกษาแล้ว ระยะเวลาที่ให้บริการปรึกษาเฉลี่ย 10-15 นาที/ราย ผลจากการประเมินความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างหลังผ่านการให้บริการ Pre-service counseling จำนวน 715 คน คิดเป็นร้อยละ 95.2% รู้สึกพึงพอใจต่อบริการ Pre-service counseling และอยากให้ดำเนินการต่อไป มีเพียงส่วนน้อย (4.8%) ไม่พอใจเพราะทำให้เสียเวลา ทั้งยังพบว่าผู้ป่วย 1.1% เปลี่ยนใจไม่ต้องการพบแพทย์หลังจากที่ได้รับบริการ Pre-service counseling แล้ว วิจารณ์และสรุป บริการปรึกษาก่อน พบแพทย์ (Pre-service counseling) เป็นบริการที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและญาติรวมทั้งการต่อโรงพยาบาลด้วย โดยในส่วนของผู้ป่วยและญาตินั้นจะได้รับการดูแลประคับประคองทางจิตใจและอารมณ์ ได้รับการให้การปรึกษาและความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็น เป็นการใช้เวลาขณะที่รอพบแพทย์ให้เกิดประโยชน์ในส่วนของโรงพยาบาลบริการ Pre-service counseling จะช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยและญาติ อีกทั้งยังได้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผู้ป่วย รวมทั้งปัญหาทางจิตสังคม ที่เกี่ยวข้องกับอาการทางจิต ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางวางแผนในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยต่อไป อย่างไรก็ตามการศึกษาเพื่อประเมินผลบริการนี้ในอนาคตควรจะเก็บข้อมูลที่สามารถใช้ประเมินผลสำเร็จของบริการ Pre-service counseling ให้ได้ชัดเจนมากกว่านี้เป็นต้นว่าประเมินสิ่งที่ผู้ป่วยได้รับเปรียบเทียบก่อนหลังได้รับบริการหรือให้มีกลุ่มเปรียบเทียบ

Keywords: การให้บริการปรึกษา, ปรึกษา, การพยาบาลจิตเวช, จิตเวช, การพยาบาล, psychiatric nursing, counseling, counselling, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200430008229

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -