ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชัย มงคล, ทวี ตั้งเสรี, ภัสรา เชษฐ์โชติศักดิ์, ศักดา กาญจนาวิโรจน์กุล, วัชนี หัตถพนม

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความต้องการของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชนและระบาดวิทยาโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 8 วันที่ 23-25 สิงหาคม 2543

รายละเอียด / Details:

เพื่อศึกษาค่าความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชน โดยเฉพาะค่าความไวความจำเพราะ คุณค่าการทำนายผลบวก คุณค่าการทำนายผลลบ ความถูกต้องของการทดสอบเปรียบเทียบกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์เพื่อศึกษาระบาดวิทยาโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือวิธีการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ ในระยะที่ 1 เป็นการหาค่าความพร้อมกัน (Agreement)ในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ 3 คน โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยนอกและญาติที่มารับบริการที่ กลุ่มงานผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นได้ ค่า Kappa statistic เท่ากับ 0.84 (Z=12.88p‹0.01)และทำการศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชนโดยเปรีบบเทียบกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์ เพื่อหาจุดตัดที่เหมาะสมโดยเลือกตัวอย่างแบบเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในการศึกษากลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยที่ตำบลท่าพระ ตำบลพระลับ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 3,238 คน การศึกษาระยะที่ 2 เป็นการศึกษาระบาดวิทยาโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสุ่มตัวอย่างแบบ Multistage cluster sampling ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทุกคนในหมู่บ้านที่สุ่มได้ ตามคุณสมบัติที่กำหนดจำนวนตัวอย่าง 12,119 คน ใช้เวลาในการเก็บข้อมูลทั้ง 2 ระยะตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2541-กรกฏาคม 2542 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบคัดกรองของ อภิชัย มงคล และคณะและจิตแพทย์หรือแพทย์จำนวน 3 คน (gold standard) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้มีการแจกแจงความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์ผลการศึกษา ค่าความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชน มีจุดตัดที่เหมาะสมที่ 1 คะแนน โดยให้ค่าความไวร้อยละ 92.0 ความจำเพาะร้อยละ 98.8 คุณค่าการทำนายผลบวก ร้อยละ 63.9 คุณค่าการทำนายผลลบ ร้อยละ 99.8 ความถูกต้องของการทดสอบร้อยละ 98.6 ความชุกของโรคจิตร้อยละ 2.3 ระบาดวิทยาโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการศึกษาพบว่า ความชุกของโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ ร้อยละ 12 โดยพบผู้ป่วยโรคจิตมากที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษร้อยละ 43.9 รองลงมาจังหวัดเลย ร้อยละ 25.0 มีอายุอยู่ในช่วง 25.34 ปี ร้อยละ 26.4 รองลงมา 35.44 ปี และ45-54 ปี มีจำนวนเท่า ๆ กัน ร้อยละ 21.6 เป็นเพศหญิงร้อยละ 51.4 จบการศึกษาประถมศึกษาร้อยละ 78.3 สถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 46.6 อาชีพเกษตรกรรมร้อยละ 53.3 วิจารณ์และสรุปสำหรับผลการศึกษาด้านความชุกของโรคจิต พบว่าใกล้เคียงกับนักวิชาการหลายท่านในต่างประเทศและผลการศึกษาที่ได้รับเป็นข้อมูลเชิงระบาดวิทยา ซึ่งสามารถนำไปวางแผนในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชรวมทั้งการอ้างอิงเชิงวิชาการ และควรมีการศึกษาระบาดวิทยาโรคจิตในประเทศไทยโดยใช้แบบคัดกรองฉบับนี้เนื่องจากได้ศึกษาความถูกต้องของเครื่องมือเรียบร้อยแล้ว

Keywords: โรคจิต, แบบคัดกรอง, ระบาดวิทยา, ความชุก, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, แบบคัดกรองโรคจิต, แบบคัดกรองโรคจิตในชุมชน, psychosis, screening test, epidemiology, prevalence

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น โรงพยาบาลจิตเวชนครพนม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200430008231

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -