ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทพญ.นิตยา สโรบล, ทพญ.สาธกา ธาตรีนรานนท์, ทพญ.สุวรรณี ตุ่มทอง

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะสุขภาพในช่องปากกับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 136-137.

รายละเอียด / Details:

สภาวะในช่องปากมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหลายด้าน เช่น ความเจ็บปวด ความสามารถในการพูด การเคี้ยว การลิ้มรส รูปร่างของฟัน ฯลฯ โดยทั่วไปการวัดสุขภาพในช่องปากจะวัดในมิติของสภาวะในช่องปากทางคลินิกหรือวัดการเกิดพยาธิสภาพ ซึ่งไม่สะท้อนความต้องการของประชาชน ดังนั้นจึงได้มีการพัฒนาตัวชี้วัดทางด้านทันตกรรมกับสังคมขึ้น (Socio-dental Indicators) โดยรวมเอาเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต จิตวิทยาทางสังคม (bio-psychosocial model) มาทำเป็นแบบของสุขภาพในช่องปาก (Socio-dental Indicators) ซึ่งจะต้องอาศัยพื้นฐานทางสังคม จิตวิทยา วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพในช่องปาก สำหรับการนำเอา Socio-dental Indicators มาใช้ในการประเมินสภาวะสุขภาพในช่องปากกับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเภท ยังไม่เคยดำเนินการมาก่อนในประเทศไทยการศึกษานี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางสังคมของผู้ป่วย จิตเภทที่มีปัญหาทางทันตกรรมเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนการบำบัดรักษาที่เหมาะสม หรือเพื่อการศึกษาวิจัยต่อไป วัตถุประสงค์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะสุขภาพในช่องปากกับผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเภท วิธีการ การวิจัยครั้งนี้เป็นการสำรวจสุขภาพในช่องปากของผู้ป่วยจิตเภทที่รับไว้ในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่เดือน พ.ศ. 2547-มี.ค. 2548 จำนวน 150 คน อายุ 19-68 ปีโดยสุ่มแบบเจาะจงตามวิธีการขององค์อนามัยโลกปี 1997 และสัมภาษณ์สภาวะผิดปกติที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา การสัมภาษณ์ครอบคลุม 3 มิติได้แก่ มิติทางด้านกายภาพ มิติทาง ด้านจิตวิทยา มิติทางด้านสังคม โดยแบ่งกิจกรรมการดำรงชีวิตประจำวันเป็น 8 กิจกรรม ได้แก่ การกิน การทำความสะอาดฟัน การพูด การนอน การยิ้ม การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ การทำงาน การพบปะผู้คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ Cross tabulation Paired T test Logistic Regression ผลการวิจัย พบว่าผู้ป่วยจิตเภทมีสภาวะทันตสุขภาพโดยมีค่าเฉลี่ย ผุ ถอน อุด (DMFT) 12.23+8.561 ค่าเฉลี่ย จำนวนฟันที่เหลือในปาก 26.42+4.514 ซี่/คน และมีสภาวะปริทันต์โดยคอดจากร้อยละ ของผู้มีสภาวะปริทันต์ คิดจากระดับสูงสุดในแต่ละคน สภาวะปริทันต์ปกติ 4% มีเลือดออก 14% มีหินน้ำลาย 48% มีร่องลึกปริทันต์ 4-5 มม.21.33% สภาวะปริทันต์>6 มม. 5.33% ส่วนที่หายไป 24% ผู้ป่วยร้อยละ 77.3 มีสภาวะสุขภาพในช่องปากที่มีผลกระทบต่อกิจกรรมการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของกิจกรรมที่มีผลกระทบ 1.93+1.779 กิจกรรมต่อคนอุบัติการณ์ของกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน มากตามลำดับคือ การกิน (68.7%) การทำความสะอาดฟัน (28.0%) การพูด (26.7%)การกินจะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันบ่อยมากที่สุด และรุนแรงมากที่สุด ความรู้สึกไม่สบาย (Discomfort) และความเจ็บปวด (Pain) เป็นสาเหตุหลักของอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกที่มีผลกระทบต่อกิจกรรมการดำรงชีวิตประจำวัน มากร้อยละ 69.82 และ 44.82 ตามลำดับ การปวดฟันเป็นสาเหตุสำคัญมากที่สุดของความผิดปกติในช่องปาก (29.31%) เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะสุขภาพในช่องปากกับผู้ที่มีผลกระทบของช่องปากในการดำเนินกิจกรรม 8 กิจกรรมของการดำรงชีวิตประจำวันโดยใช้ Pair t –test ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%พบว่าไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่เมื่อวิเคราะห์โดยใช้ Logistic Regression พบว่าสภาวะสุขภาพในช่องปากมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของ ผู้ป่วยจิตเภทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีกิจกรรมที่มีผลกระทบ ได้แก่การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ การพบปะผู้คน กล่าวคือผู้ที่มีฟันในช่องปากเหลือน้อยจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์มากกว่าผู้ที่มีฟันในช่องปากเหลือมาก ร้อยละ 33.2 ที่ถูกถอนฟันไปน้อยซี่ มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์มากกว่า ผู้ที่ถูกถอนฟันไปหลายซี่ ร้อยละ 35.5 และในกิจกรรมการพบปะผู้คนพบว่าผู้ที่มีฟันในช่องปากเหลือน้อยจะมีผลกระทบต่อการพบปะผู้คนมากกว่าผู้ที่มีฟันในช่องปากเหลือมากร้อยละ 33.2 สรุป สภาวะสุขภาพในช่องปากมีผลกระทบต่อกิจกรรมการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วย จิตเภทอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กิจกรรมที่มีผลกระทบ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ การพบปะผู้คน การปวดฟันเป็นสาเหตุ สำคัญมากที่สุดของความผิดปกติในช่องปากที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วยจิตเภท

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, ความสัมพันธ์, ช่องปาก, ทันตกรรม, ทันตสุขภาพ, คุณภาพชีวิต, จิตเวช, จิตเภท, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มงานทันตกรรม สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

Code: 20050000100

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: