ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ลัดดา ศักดาเดชฤทธิ์, วรรณภา สาโรจน์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลของการใช้โปรแกรมการฝึกอบรมกลุ่มแบบมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเองและความหวังของผู้ต้องขังโรคจิตเวชในเรือนจำกลางขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 138.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมการฝึกอบรมกลุ่มแบบมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเองและความหวังของผู้ต้องขังโรคจิตเวช กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ต้องขังโรคทางจิตเวชที่อยู่ในความดูแลของเรือนจำกลางขอนแก่น จำนวน 66 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างตามที่คุณสมบัติกำหนดและแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจำนวนเท่าๆ กันสำหรับกลุ่มทดลองจะได้รับการฝึกตามโปรแกรมการฝึกอบรมกลุ่มแบบมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ที่มีต่อการเห็นคุณค่าในตนเองและความหวังของผู้ต้องขังโรคจิตเวชที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 7 สัปดาห์ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเน้นในเรื่องการเห็นคุณค่าในตนเองและความหวังให้กับผู้ต้องขังโรคจิตเวชเครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลโปรแกรมการฝึกอบรมกลุ่มแบบมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ที่มีต้องการเห็นคุณค่าในตนเองและความหวัง จำนวน 21 กิจกรรม แบบประเมินการเห็นคุณค่าในตนเองของโรเซ็นเบิร์ก ซึ่งผู้วิจัยดัดแปลงมาจากการแปลและเรียบเรียงของฐปนีย์ ตั้งจิตภักดีสกุล ( 2545 ) และดัชนีความหวังของเฮิร์ท นำข้อมูลส่วนบุคคลของกลุ่มตัวอย่างนำมาวิเคราะห์โดยการแจกแจงความถี่และวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยด้านการเห็นคุณค่าในตนเองและความหวังของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมด้วยสถิติ Paired Sample T- Test ผลการวิจัย พบว่า 1) คะเฉลี่ยการเห็นคุณค่าในตนเอง หลังการเข้าร่วมกิจกรรมตามโปรแกรมสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2) คะแนนเฉลี่ยความหวังหลังการเข้าร่วมกิจกรรมตามโปรแกรมสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3) คะแนนเฉลี่ยการเห็นคุณค่าในตนเองของผู้ต้องขังโรคจิตเวชกลุ่มทดลองในระยะหลัง การทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4) คะแนนเฉลี่ยความหวังของผู้ต้องขังโรคจิตเวช กลุ่มทดลองในระยะหลังการทดลอง สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5

Keywords: โรคจิตเวช, จิตเวช, ผู้ต้องขัง, โปรแกรมการฝึกอบรม, เรือนจำ, คุณค่าในตนเอง, จิตเวชศาสตร์, สุขภาพจิต, เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ รพ. จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 20050000101

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: