ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: องุ่น พยุงธรรม

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 233. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

นโยบายในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่พยายามให้ผู้ป่วยจิตเวชรักษาตัวในชุมชนให้มากที่สุด กรณีมีความจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลก็พยายามให้อยู่ในโรงพยาบาลในระยะเวลาสั้นที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยกลับสู่ครอบครัวและชุมชนโดยเร็ว แต่มักพบเสมอว่าผู้ป่วยทางจิตยังมีพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคทางสังคม การบำบัดทางสังคมเพื่อให้ผู้ป่วยได้พัฒนาการปรับตัวเข้ากับสังคมได้จึงเป็นสิ่งจำเป็นโรงพยาบาลศรีธัญญา มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ในระดับตติยภูมิขั้นสูง ให้บริการรตรวจวินิจฉัยบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชที่รุนแรงซับซ้อน ดังนั้นกลุ่มงานการพยาบาลซึ่งมีหน้าที่ให้การดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโดยตรง จึงจัดโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยในขึ้น เพื่อพัฒนาสมรรถภาพด้านร่างกาย/ด้านจิตใจของผู้ป่วยจิตเวชที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลศรีธัญญา และให้ผู้ป่วยเรียนรู้การปรับตัวในสังคม รู้จักความสามัคคี และเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน โครงการจัดขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 ณ สนามกีฬากลางแจ้ง โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยมีบุคลากรและผู้ป่วยแผนกชาย แผนกหญิง และแผนกฟื้นฟูฯ จำนวน 700 คน เข้าร่วมโครงการกิจกรรมในโครงการประกอบด้วย ขบวนพาเหรดของนักกีฬา และกองเชียร์ 3 สี คือ สีเขียว สีฟ้า และสีชมพู การประกวดเชียร์ลีดเดอร์/กองเชียร์/ขบวนพาเหรด/ผู้ถือป้าย และการแข่งขันกีฬากลางแจ้ง เช่น วิ่งผลัดกระสอบ หนีบบอลกลางร่ม โยนบอลใส่ตะกร้า สาลิกาป้อนเหยื่อ และชักคะเย่อ การประเมินผลโครงการเก็บข้อมูลจากการสังเกต สัมภาษณ์ และตอบแบบสอบถามพบว่า ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในระดับมากคิดเป็นร้อยละ 84 และมีความต้องการให้จัดกิจกรรมทุกปี ร้อยละ 100 จากการสังเกตก่อนกำหนดงานในแต่ละแผนกมีการฝึกซ้อม เพลงเชียร์ เชียร์ลีดเดอร์ โดยมีบุคลากรพยาบาลเป็นพี่เลี้ยงดูแล ในวันงานผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มีความกระตือรือร้น ตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมขบวนพาเหรดผู้ป่วยบางคนที่นอนซึมบนเตียงสีหน้าซึมเศร้าไม่ยอมทำอะไร แต่เมื่อกระตุ้นให้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ยินดีเข้าร่วมกิจกรรม โดยทำหน้าที่ถือป้าย เป็นต้น ขณะแข่งขันกีฬา กองเชียร์ตั้งใจเชียร์ร้องเพลงอย่างสนุกสนาน เมื่อทีมของตนเองแพ้ก็ไม่ได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทีมที่ชนะก็แสดงความดีใจ จากการสัมภาษณ์ผู้ร่วมโครงการผู้ป่วยทุกคนมีความพึงพอใจที่ได้ร่วมงาน รู้สึกว่าโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับผู้ป่วย สรุปและข้อเสนอแนะ ผู้ป่วยจิตเวช คือ บุคคลหนึ่งในสังคมเพียงแต่ขาดโอกาสบางอย่าง การจัดโอกาสและประสบการณ์ให้ผู้ป่วยเป็นสิ่งจำเป็นต้องกระทำเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาสเหมือนคนอื่นทั่วไป

Keywords: นโยบาย, การดูแลผู้ป่วยจิตเวช, ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย, โรงพยาบาลศรีธัญญา, บริการสุขภาพจิตและจิตเวช, ฟื้นฟู, ฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 000000121

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -