ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทิพศมัย ทายะรังษี และทีมงาน

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาระยะเวลาในการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชระยะเฉียบพลันและจำนวนวันนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยในโรงพยาบาลสวนปรุง

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 144.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าชดเชยกรณีผู้ป่วยจิตเวชตามระดับความเร่งด่วนของอาการเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยระยะเฉียบพลัน โรงพยาบาลสวนปรุงจึงได้ทำการวิจัยครั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาจำนวนวันนอนเฉลี่ยของผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระยะเฉียบพลันและมีจำนวนวันนอนรวมเฉลี่ยของผู้ป่วยจิตเวชแยกรายโรคเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ขอบเขตการวิจัย กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วยผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสวนปรุง ระหว่างวันที่ 11 ตุลาคม 2546- 31 มีนาคม 2547 วิธีการวิจัย ศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากแฟ้มประวัติผู้ป่วยและแบบบันทึกการจำแนกประเภทผู้ป่วยจิตเวชหรือปัญญาอ่อนจำนวนทั้งสิ้น 1, 901 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงในกรณีผู้ป่วยจิตเวชที่มีการบันทึกข้อมูลการจำแนกประเภทผู้ป่วยครบถ้วนตั้งแต่วันรับใหม่จนถึงวันที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล และใช้เครื่องมือการจำแนกประเภทผู้ป่วยจิตเวชหรือปัญญาอ่อน 5 ประเภท เป็นเกณฑ์ในการประเมินอาการผู้ป่วย โดยกำหนดผู้ป่วยประเภทวิกฤต ฉุกเฉิน และแรกรับเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะเฉียบพลัน สรุปผลการวิจัย ผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลสวนปรุงมีจำนวนวันนอนเฉลี่ยที่อยู่ในระยะเฉียบพลัน 14.62 วัน และมีจำนวนวันนอนรวมเฉลี่ย 32.12 วัน นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างกันในระหว่างกลุ่มการวินิจฉัยโรค ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มโรคจิตจากสุรามีจำนวนวันนอนรวมเฉลี่ยและจำนวนวันนอนเฉลี่ยที่อยู่ในระยะเฉียบพลันน้อยที่สุด คือ 25. 34 วันและ 10. 90 วัน ตามลำดับ และผู้ป่วยในกลุ่มโรคจิต มีจำนวนวันนอนรวมเฉลี่ยมากที่สุดคือ 34.49 วัน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่มีจำนวนวันนอนเฉลี่ยที่อยู่ในระยะเฉียบพลันมากที่สุดคือผู้ป่วยในกลุ่มโรคจิตจากความผิดปกติทางสมองคือ 17.39 วัน อภิปรายผล ผลการวิจัยที่ได้เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานที่พิจารณาตามเครื่องมือการจำแนกประเภทผู้ป่วยจิตเวชหรือปัญญาอ่อน 5 ประเภทซึ่งใช้ประเมินอาการเพื่อการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามความรุนแรงของอาการทางจิตไม่ได้เป็นตัวกำหนดจำนวนวันนอนในระยะเฉียบพลันเพียงอย่างเดียว ความพร้อมของการดูแลต่อเนื่องในชุมชนก็มีผลต่อการจำหน่ายผู้ป่วยระยะเฉียบพลันอีกด้วย

Keywords: จิตเวช, จำนวนวันนอน, ผู้ป่วยจิตเวช, ระยะเฉียบพลัน, การบริการ,การดูแล, ความรุนแรง, 30 บาทรักษาทุกโรค, นโยบาย, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000105

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: