ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ผ่อง อนันตริยเวช, วรรณภา พลอยเกลื่อน, ฉันทนา บุญคล้าย

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังในชุมชน : กรณีศึกษา ชุมชนวัดบางระโหง จ. นนทบุรี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 148-150.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล สภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคมไทย การดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคมไทย การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างรีบเร่งแข่งขันและต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด สังคมมีความเสื่อมถอยทางด้านวัฒนธรรม คุณธรรมจริยธรรมและศาสนา เป็นแรงกระทบและเพิ่มความกดดันทางจิตใจ ทำให้ประชาชนเกิดความเครียด ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจิตของประชาชนอย่างมากและรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นโรคจิต โรคประสาทมากขึ้น โรคจิตเภทเป็นโรคทางจิตที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ของโรคทางจิตทั้งหมด เป็นโรคที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับโรงพยาบาลจิตเวชและประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท ที่มีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ หลงผิดและประสาทหลอน การดำเนินของโรคจิตเภทมีอัตราการกำเริบสูงถึง ร้อยละ 50-70 สูงกว่าโรคจิตอื่นๆ ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะมีความผิดปกติในด้านความคิด การรับรู้ความจริง อารมณ์และสังคมจะแสดงให้เห็นได้ด้วยพฤติกรรม ที่ผิดปกติไปจากคนอื่น เช่น ความคิดไม่ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน มีอาการประสาทหลอนและอารมณ์ไม่เหมาะสม จากอาการและอาการแสดงดังกล่าว ทำให้เกิดความบกพร่องในการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งจากการแปรปรวนในการสื่อสารและขาดการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ความสามารถเรียนรู้และการแก้ปัญหาจะลดลงตามระยะเวลาที่เป็นโรคและมีความเสื่อมของบุคลิกภาพและการทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกาย โดยจะเสื่อมลงเล็กน้อยในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกของการเจ็บป่วยหลังจากนั้นจะพบว่ามีการเสื่อมลงเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 10 ของการเจ็บป่วยและเสื่อมลงอย่างมากหากระยะเวลาของการเจ็บป่วยมากกว่านั้น และ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคจิตเภททั้งหมดสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้ตามปกติ เช่น เดิมถ้าระยะการเจ็บป่วยอยู่ในช่วงสั้นๆ อีก 1 ใน 3 จะมีประวัติการกลับมารักษาซ้ำและมีอาการรุนแรงตลอดชีวิต ส่วนที่เหลือจะมีอาการเรื้อรัง อีกทั้งจำเป็นที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทต้องรับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตลอดจนฤทธิ์ข้างเคียงจากยาทำให้เกิดความไม่สุขสบายต่อผู้เป็นโรคจิตเภทผลกระทบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ทำให้ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทไม่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิตที่ดีได้เป็นภาระในการดูแลผูป่วย โรคจิตเภทจัดได้ว่าเป็นภาวะโรคทางจิตที่เรื้อรังรุนแรงที่สุดเช่นเดียวกับโรคเรื้อรังทางกาย แต่จะมีความซับซ้อนกว่า การดูแลรักษาต้องทำหลายด้าน ทั้งด้านร่างกายจิตใจและสังคม การรักษาด้วยยาเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้อาการดีขึ้นความผิดปกติทางจิตจะน้อยลงหรือหายไป ดังนั้น การรักษาทางจิตสังคมโดยเฉพาะการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภท หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว จะเป็นภาระของโรงพยาบาลจิตเวชในการดูแลและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชเป็นการพัฒนาความสามารถของผู้ป่วยโรคจิตเวชให้สามารถใช้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ให้มากที่สุด หรือลดความบกพร่อง ความพิการให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป โดยมีจุดหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้เป็นโรคทางจิตเวชได้กลับคืนสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2540 กลุ่มภารกิจบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโรงพยาบาลศรีธัญญาได้ดำเนินโครงการนำร่องฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังที่ไม่มีญาติหรือญาติทอดทิ้ง โดยใช้วัดในจังหวัดนนทบุรีเป็นศูนย์กลางการฟื้นฟูสมรรถภาพ ปัจจุบันมีวัดที่เป็นเครือข่ายการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย จำนวน 4 วัด ได้แก่ วัดสวนแก้ว วัดบางระโหง วัดสว่างอารมณ์ และวัดเอนกดิษฐาราม โดยมีการเตรียมผู้ป่วยด้วยการฝึกทักษะจำเป็นพื้นฐาน 6 ด้าน และผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับ 3 ขึ้นไป (ผู้ที่ช่วยเหลือตนเองและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้บ้าง) และผู้ป่วยมีความสมัครใจในส่วนของชุมชนวัดได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฎิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมของพระสงฆ์และสมาชิกในชุมชนวัด เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชโดยชุมชน และมีการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยหลังจากนำผู้ป่วยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในวัดเป็นประจำ เพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ ตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนวัดได้เป็นอย่างดี ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะปรึกษาปัจจัยที่มีต่อผลต่อความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพ วัตถุประสงค์ 1.เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลและลักษณะของชุมชนเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคจิตเภท เจตคติ การสนับสนุนทางสังคมที่มีผลต่อความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง 2.เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลที่แตกต่างกันกับความรู้เรื่องโรคจิตเภท เจตคติ การสนับสนุนทางสังคมที่มีต่อความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง 3.เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เรื่องโรคจิตเภท เจตคติ การสนับสนุนทางสังคมที่มีผลต่อความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตจิตเภทเรื้อรัง ขอบเขตการวิจัย ศึกษาเฉพาะชุมชนวัดบางระโหงในพื้นที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรีกลุ่มตัวอย่างเป็นพระภิกษุสงฆ์ ผู้นำชุมชน อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ชาวบ้านในชุมชนวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษาเชิงบรรยาย (Descriptive Research) เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลและลักษณะของชุมชนเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคจิตเภท เจตคติ การสนับสนุนทางสังคมที่มีผลต่อความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เรื่องโรคจิตเภท เจตคติ และการสนับสนุนทางสังคมที่มีผลต่อความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังในชุมชน ศึกษาเฉพาะชุมชนวัดบางระโหงในพื้นที่ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองจังหวัดนนทบุรี กลุ่มตัวอย่างเป็นพระภิกษุสงฆ์ ผู้นำชุมชน อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ชาวบ้านในชุมชนวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย ระหว่างเดือนมีนาคม 2548 เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง ผ่านการตรวจคุณภาพตามขั้นตอนและหาค่าความเที่ยง KR 21 มีค่า rtt = 0.9 7 5 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน T- test F-test และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ตามลำดับ สรุปผลการวิจัย 1.ลักษณะของชุมชนวัดบางระโหงมีความพร้อมทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ ด้านวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ ด้านการจัดองค์กรและวิธีการ และด้านข่าวสารข้อมูล 2.ลักษณะของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ กลุ่มพระสงฆ์ในวัด กลุ่มคนในชุมชนทั่วไป กลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐานและเจ้าหน้าที่ อบต. และกลุ่มคนคุ้นเคย แม่ค้า/นายจ้าง ซึ่งมีความรู้เรื่องโรคจิตเภทส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 78.7 มีเจตคติอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 68.6 การสนับสนุนทางสังคมส่วนมากอยู่ในระดับต่ำ ร้อยละ 62.9 3.ข้อมูลการเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน ได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพรายได้ สถานภาพสมรส จำนวนสมาชิกในครอบครัว ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว สถานภาพทางสังคม/ตำแหน่ง และความสัมพันธ์กับผู้ป่วยด้านความรู้เรื่องโรคจิตเภท ไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนเจตคติและการสนับสนุนทางสังคมส่วนมากมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4.ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรคจิตเภทของบุคคลในชุมชนไม่มีความสัมพันธ์ เจตคติของบุคคลในชุมชนมีความสัมพันธ์กับความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ( r = .532) การสนับสนุนทางสังคมของบุคคลในชุมชนมีความสัมพันธ์กับความพร้อมของการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = .228) ข้อเสนอแนะ 1.ควรมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องเพื่อติดตามผลการกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมของผู้ป่วยในรายที่กลับสู่ครอบครัวหลังจากอยู่ในชุมชนวัดและสามารถใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมได้ดีเพียงใด 2.ควรศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้ เจตคติ และการสนับสนุนทางสังคมด้านใดด้านหนึ่ง ที่มีผลต่อการใช้วัดเป็นศูนย์กลางในเชิงลึก

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง, ฟื้นฟูสมรรถภาพ, สุขภาพจิต, โรคจิตเภท, อารมณ์, สังคม, พฤติกรรม, ความพร้อม, วัด, ความเครียด, การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช, จิตเวช, โรคจิต, จิตเวชศาสตร์, จิตเภท

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000107

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: