ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุรพิน แท่นรัตนกุล

ชื่อเรื่อง/Title: การฝึกทักษะทางสังคมของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในโรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 151-152.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ภารกิจหลักของโรงพยาบาลศรีธัญญา คือ การให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช พบว่าปัญหาการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำของผู้ป่วยจิตเวช ทำให้มีความยุ่งยาก ซับซ้อนของการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ เนื่องจากทั้งผู้ป่วยและญาติเกิดความรู้สึกท้อแท้ หมดกำลังใจและเบื่อหน่ายต่อการรักษาที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังจำนวนมากไม่เป็นที่พึงประสงค์ของญาติ ครอบครัวและชุมชนจึงถูกทอดทิ้งไว้ในโรงพยาบาล ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านั้นมีความบกพร่องในทักษะพื้นฐานการดำเนินชีวิต เช่น ทักษะทางสังคมที่จำเป็นต้องใช้เพื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นๆ คณะวิจัยจึงสนใจว่าถ้าทำการฝึกทักษะทางสังคมด้านการมีสัมพันธภาพ การสื่อสารบอกความต้องการของตนเอง การตัดสินใจและการปฏิเสธแก่ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีพฤติกรรมและทักษะทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยครั้งนี้ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลการฝึกทักษะทางสังคมด้านการมีสัมพันธภาพ การสื่อสารบอกความต้องการของตนเอง การตัดสินใจและการปฏิเสธ ที่มีต่อพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ขอบเขตการวิจัย การศึกษาวิจัยนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างประชากรเฉพาะผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่รับไว้รักษาในหอฟื้นฟู 17 โรงพยาบาลศรีธัญญา จำนวน 20 คน เนื่องจากเป็นการวิจัยกึ่งทดลองในคลินิก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องและต้องควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนอื่นๆเพื่อให้เกิดผลที่เชื่อถือได้ในการวิจัย ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษาวิจัยกึ่งทดลองในคลินิก กลุ่มตัวอย่างประชากร จำนวน 20 คน คัดเลือกโดยมีลักษณะใกล้เคียงกันในด้านอายุ ระยะเวลาการเจ็บป่วย ระดับการศึกษาและมีคะแนนพฤติกรรมการแสดงออกต่างกันไม่เกิน 3 คะแนน ทำการจับคู่ จับฉลาก แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 10 คน กลุ่มควบคุมได้รับกลุ่มบำบัดตามปกติในหอผู้ป่วย กลุ่มทดลองได้รับกลุ่มบำบัดตามปกติในหอผู้ป่วยร่วมกับกลุ่มฝึกทักษะทางสังคม จำนวน 20 ครั้ง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 แบบ คือ แบบสังเกตพฤติกรรมมี 15 ข้อ มีคู่มือประกอบการสังเกตและแบบวัดทักษะทางสังคม จำนวน 40 ข้อ การเก็บรวบรวมข้อมูล 2 ครั้ง คือก่อนเริ่มการทดลอง 2 วัน และหลังการทดลอง 2 วัน ผู้วิจัย 1 คนเป็นผู้รวบรวมข้อมูลโดยไม่ทราบว่าผู้ป่วยคนใดอยู่ในกลุ่มใด และผู้วิจัยอีก 2 คน เป็นผู้จัดกลุ่มฝึกทักษะทางสังคม ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยการทดสอบค่าที (t-test) สรุปผลการวิจัย หลังการทดลองพบว่า 1.ผู้ป่วยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3.ผุ้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนทักษะทางสังคมสูงกว่าควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ด้านการสื่อสารบอกความต้องการของตนเอง การตัดสินใจและการปฏิเสธ แต่มีทักษะด้านสัมพันธภาพไม่แตกต่างกัน ข้อเสนอแนะ 1.ควรมีการติดตามผลการคงอยู่ของพฤติกรรมที่ดีขึ้นของผู้ป่วยในระยะยาว 2.ผู้ป่วยจิตเวชทุกรายควรได้รับการฝึกทักษะทางสังคมก่อนกลับสู่ชุมชน

Keywords: ทักษะทางสังคม, ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง, โรงพยาบาลศรีธัญญา, บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช, จิตเวช, ญาติ, ครอบครัว, สังคม, สัมพันธ์, การสื่อสาร, พฤติกรรม,กลุ่มบำบัด, ทักษะ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000108

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -