ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: องุ่น พยุงธรรม, สกาวรัตน์ พวงลัดดา, เนาวนิตย์ มุขสมบัติและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของกลุ่มทักษะทางสังคมต่อพฤติกรรมทางสังคมของผู้ป่วยจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 153.

รายละเอียด / Details:

ปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วยจิตเภท คือ พฤติกรรมทางสังคมบกพร่อง เนื่องจากพฤติกรรมและอาการของผู้ป่วยส่งผลให้ผู้ป่วยแยกตัวออกจากสิ่งแวดล้อม และสูญเสียทักษะทางสังคม ดังนั้นพฤติกรรมทางสังคมของผู้ป่วยจิตเภทจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมในผู้ป่วยจิตเภท จึงมีความสำคัญเพราะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาผลของกลุ่มทักษะทางสังคมต่อพฤติกรรมทางสังคมของผู้ป่วยจิตเภท ขอบเขตการวิจัย ประชากรที่ปรึกษา คือ ผู้ป้วยจิตเภทที่เข้ารับการรักษาในหน่วยคุณภาพฟื้นฟูสมรรถภาพระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2547 ระเบียบวิธีการวิจัย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง( quasi – experimental research ) ขนาดของกลุ่มตัวอย่าง 32 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 16 คน กลุ่มควบคุม 16 คน โดยสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย ตัวแปรต้น คือ กลุ่มทักษะทางสังคม ตัวแปรตาม คือพฤติกรรมทางสังคมของผู้ป่วยจิตเภท เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการทำกลุ่มทักษะทางสังคมที่ผ่านการตรวจสอบเนื้อหา จำนวน 12 ครั้ง และแบบวัดพฤติกรรมทางสังคมที่มีค่าความเชื่อมั่น 0.96 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามพฤติกรรมทางสังคมทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองก่อนเข้ากลุ่มและหลังเข้ากลุ่ม 1 4 และ 8 สัปดาห์ และบันทึกข้อมูลเชิงคุณภาพขณะทำกลุ่ม นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติบรรยาย และการทดสอบ t-test ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพนำมาวิเคราะห์เนื้อหา สรุปผลการวิจัย ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมทางสังคมของกลุ่มทดลองมากว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 กลุ่มทดลองมีปัจจัยในการบำบัดเกิดขึ้นดังนี้ คือ การมีความรู่สึกคล้ายคลึงกัน ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม การใช้ข้อมูล และความเกื้อกูล ข้อเสนอแนะ -ผลการวิจัยครั้งนี้ปรากฏชัดเจนว่ากลุ่มทักษะทางสังคมช่วยพัฒนาพฤติกรรมทางสังคมของผู้ป่วยจิตเภทในทางที่ดีขึ้น ดังนั้น ในผู้ป่วยที่บกพร่องเรื่องทักษะทางสังคม จึงควรฝึกเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมในผู้ป่วยต่อไป -เมื่อติดตามผลการฝึกในสัปดาห์ที่ 8 พบว่า คะแนนพฤติกรรมทางสังคมลดลง ดังนั้น หลังฝึกผู้ป่วย จิตเภท 8 สัปดาห์ ต้องมีการประเมินพฤติกรรมทางสังคมของผู้ป่วย เพื่อวางแผนฝึกฟื้นฟูทักษะทางสังคมต่อไป

Keywords: พฤติกรรม, ผู้ป่วยจิตเภท, กลุ่มทักษะทางสังคม, การฟื้นฟูสมรรถภาพ, พฤติกรรมทางสังคม, สังคม, สิ่งแวดล้อม, ทักษะ, ผู้ป่วยโรคจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000109

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -