ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นวลลักษณ์ บูรณะกิติ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยจิตเภทกลับมารักษาซ้ำ และผลของการใช้การสังคมสงเคราะห์จิตเวชที่มีต่อพฤติกรรมแยกตนเองของผู้ป่วยจิตเภท

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 156-157.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ป่วยจิตเภทส่วนใหญ่จะมีอาการแยกตัวเอง นั่งก้มหน้า ไม่ยินดียินร้ายแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ มีความเสื่อมทั้งด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยจิตเภทเหล่านี้ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำบ่อยครั้ง การช่วยเหลือจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทีมสหวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักอาชีวบำบัดนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาของผู้ป่วยแต่ละรายไป ในการวางแผน ให้การช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเภทนั้น การสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวชเข้าไปมีส่วนสำคัญทุกขั้นตอนในการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเภทในแต่ละราย และเพื่อให้เห็นรูปแบบการทำงานสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวชที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงได้เลือกผู้ป่วยจิตเภทที่มีลักษณะอาการแยกตัวเองขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาเฉพาะราย ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์จำนวน 9 ครั้ง ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ต้องการศึกษาว่า มีปัจจัยทางด้านครอบครัว สังคม วัฒนธรรม อะไรบ้างที่มีส่วนทำให้ผู้ป่วยต้องกลับมารักษาซ้ำและมีพฤติกรรมแยกตนเองเช่นนี้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเภทรายอื่นที่มีลักษณะปัญหาที่คล้ายคลึงกัน รวมทั้งช่วยให้ผู้ป่วยลดพฤติกรรมแยกตนเอง สามารถสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การบำบัดรักษาในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากรณีศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลและเพื่อให้การสังคมสงเคราะห์จิตเวชผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมแยกตนเองให้มีอาการดีขึ้น ตัวอย่างที่ศึกษา คือ ผู้ป่วยจิตเภทจำนวน 1 ราย ที่มีปัญหาซ้ำซ้อน โดยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวน 9 ครั้ง ได้รับการรักษาด้วยวิธีต่างๆ จากทางโรงพยาบาลแล้วแต่ยังเหลืออาการของโรคจิตเภทที่น่าสนใจ คือ มีพฤติกรรมแยกตัวเองหงุดหงิด โมโหง่าย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้ม ถูกครอบครัวทิ้ง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลคือ แบบฟอร์มวินิจฉัยทางสังคมของกลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ แบบบันทึกการเยี่ยมบ้านของทีมสหวิชาชีพโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ แบบประเมินการทำกลุ่มบำบัดทางสังคมด้วยดนตรี เครื่องมือที่ใช้ในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ป่วยจิตเภท คือ โปรแกรมกลุ่มบำบัดทางสังคมด้วยดนตรี ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลคือ 1.ปัจจัยจากญาติไม่ดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วย เนื่องจากบิดาออกบวชและหายสาบสูญมารดามีอาการทางจิตหายสาบสูญ ส่วนน้องสาวป่วยมีอาการทางจิต ส่วนน้องสาวคนสุดท้องไปทำงานในกรุงเทพขาดการติดต่อ 2.ปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเอง ผู้ป่วยเข้าใจว่าเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ไม่ต้องกินยาอีกต่อไป จึงไม่ต้องรับประทานยาต่อ 3.ปัจจัยจากครอบครัวชุมชนสังคม ชุมชนที่ผู้ป่วยเป็นชุมชนเมือง ไม่ค่อยมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างคนต่างอยู่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการโรคจิตกำเริบ ก็จะเป็นลักษณะไม่ต้องการให้รบกวนความสงบ หรือป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากชุมชน เช่น แจ้งตำรวจจับส่งโรงพยาบาล ส่วนปัญหาพฤติกรรมแยกตนเองของผู้ป่วยนั้น ให้ผู้ป่วยเข้ารับโปรแกรมกลุ่มบำบัดทางสังคมด้วยดนตรีร่วมกับสมาชิก 15 คน จำนวน 12 ครั้ง เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าคะแนนการประเมินการเข้ากลุ่มครั้งที่ 12 สูงกว่า การเข้ากลุ่มครั้งที่ 1 แสดงว่าผู้ป่วยลดพฤติกรรมแยกตนเอง สามารถร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นได้มากขึ้น ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากสถานที่ที่ใช้ในการทำกลุ่มบำบัดด้วยดนตรี ยังไม่ค่อยเหมาะเนื่องจากเป็นโรงอาหาร ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ากลุ่มเดินมารบกวนเป็นบางครั้ง นอกจากนี้พบว่าเครื่องดนตรีที่เหมาะกับผู้ป่วยเป็นเครื่องดนตรีชนิดเคาะจังหวะ ส่วนเครื่องดนตรีที่ผู้ป่วยไม่ค่อยเลือกเล่น เช่น แคน เพราะต้องใช้ทักษะมากอาจต้องตัดออกไป ด้านการนำผลการศึกษาไปใช้ นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชสามารถนำโปรแกรมกลุ่มบำบัดทางสังคมด้วยดนตรีไปใช้ในผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมแยกตนเองได้หรือนำไปใช้ในการช่วยเสริมแรงให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมอื่นๆ ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มเช่น หากร่วมกลุ่มงานเกษตรได้ อนุญาตให้ฟังเพลงที่ชอบ หรือหากทักทายเพื่อนได้วันละ 5 คน ให้เล่นดนตรีที่ชอบ โดยอาจต้องจัดสถานที่ฟังเพลง หรือเล่นดนตรีไว้ให้ผู้ป่วยได้ ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป เป็นแนวทางในการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน ในชุมชนเมือง และชุมชนชนบทว่ามีผลแตกต่างกันอย่างไร และเป็นแนวทางในการศึกษาการใช้โปรแกรมกลุ่มบำบัดทางสังคมด้วยดนตรีในผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อไป

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, จิตเภท, พฤติกรรม, จิตเวช, ซึมเศร้า, ก้าวร้าว, ครอบครัว, สังคม, อารมณ์, แนวโน้ม, กลุ่มบำบัด, พฤติกรรมแยกตนเอง, โรคจิต, จิตเวชศาสตร์, สังคมสงเคราะห์จิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000112

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: