ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วรรณภา พลอยเกลื่อน

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการส่งเสริมทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิตผู้ป่วยจิตเวช ณ ศูนย์กิจกรรม โรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 158-159.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การสร้างเสริมทักษะพื้นฐาน ในการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชในศูนย์กิจกรรมเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและครบวงจร โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมโดยทีมสหวิชาชีพให้การช่วยเหลือชี้แนะ อำนวยความสะดวก ซึ่งหลักการจัดกิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพนั้นต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการฟื้นฟู คือให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปอยู่ชุมชนได้อย่างปกติสุข ทั้งที่ต้องเหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ป่วย และสิ่งแวดล้อมที่จะไปอยู่ ตามบทบาทของผู้ป่วยที่จะกลับไปอยู่ในชุมชน โดยฝึกเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มตามความเหมาะสม ดำเนินการฝึกโดยใช้กระบวนการ 3 ขั้นตอน คือการสำรวจความสามารถ การฝึกความสามารถและการสร้างความสำเร็จในบทบาท ทั้งนี้ให้ผู่ป่วยทางจิตพร้อมดำเนินชีวิตได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ในสังคมได้เช่นเดียวกับคนปกติ โดยใช้กิจกรรม 5 ด้านคือ กิจกรรมการพัฒนาการดูแลตนเอง กิจกรรมงานบ้าน กิจกรรมการพักผ่อน กิจกรรมการพัฒนาทักษะทางสังคม และกิจกรรมการทำงาน ดำเนินการฝึกทักษะโดยทีมสหวิชาชีพภายในโรงพยาบาลศรีธัญญา และอาสาสมัครภายนอกซึ่งฝึกทักษะชีวิตแก่ผู้ป่วยจิตเวชภายในที่เตรียมกลับบ้านและผู้ป่วยนอก ทั้งชายและหญิงอายุไม่เกิน 55 ปี มีอาการทางจิตทุเลา มีระดับความสามารถ 3 ขึ้นไป (อาการทางจิตสงบอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้) สามารถช่วยเหลือตนเองขั้นพื้นฐาน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางกาย ไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังและไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง หรือเป็นผู้ป่วยที่มีความสามารถและศักยภาพในด้านต่างๆ ที่เห็นควรสนับสนุน ซึ่งเป็นรูปแบบ/กระบวนการสร้างบุคคลากรช่วยเหลือคนพิการทางจิต ได้ประสบการณ์ทั้งผู้ทำหน้าที่เป็นครูที่ฝึก และประสบการณ์ตรงแก่ผู้ป่วยจิตเวช เพื่อการดำเนินงานที่มีคุณภาพ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปี 2547 ศูนย์กิจกรรมจึงได้จัดทำการสรุปผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มให้บริการ คือ วันที่ 1 มิถุนายน-31 ธันวาคม 2547 วัตถุประสงค์ -เพื่อสร้างเสริมทักษะในการดำรงชีวิตพื้นฐาน และการพัฒนาศักยภาพแก้ผู่ป่วยจิตเวชให้พึ่งพาตนเอง และสามารถประกอบอาชีพได้ -เพื่อพัฒนากิจกรรม/ โปรแกรม/ รูปแบบ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวชอย่างต่อเนื่อง และครบวงจร -เพื่อผลิตพัฒนา และเผยแพร่เทคโนโลยี การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช ผลการศึกษาโครงการสร้างเสริมทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนพิการทางจิต ณ ศูนย์กิจกรรมโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นการสร้างเสริมทักษะผู้ป่วยจิตเวช ที่เตรียมจะกลับไปใช้ชีวิตในชุมชน เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีทักษะชีวิตที่พึ่งพาตนเอง และสามารถประกอบอาชีพได้ ลดการป่วยซ้ำ เป็นกระบวนการฝึกฝนเรียนรู้ ทักษะขั้นพื้นฐานในการดูแลตนเองและประกอบอาชีพที่ง่ายๆ ซึ่งพัฒนาจากการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก ตั้งแต่การดูแลตนเอง การทำการบ้าน การพักผ่อน ทักษะทางสังคม การปรับตัวที่จะดำรงชีวิตขั้นซับซ้อนต่อไป จากการดำเนินงาน ผลการวิเคราะห์แบบสอบถามจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการฝึกทักษะชีวิตผู้ป่วยจิตเวช ในศูนย์กิจกรรม ได้แก่อาสาสมัคร ครอบครัวผู้ป่วย พี่เลี้ยงครูฝึก ผู้แทนหอผู้ป่วยตลอดจนผู่ป่วยจิตเวชที่รับการบริการ พบว่า มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นส่วนใหญ่และมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากเป็นส่วนใหญ่และจากการฝึกทักษะชีวิตผู้ป่วยทั้งหมด 133 ราย สามารถพัฒนาระดับความสามารถในขั้นฝึกความสามารถ 16 ราย และขั้นความสำเร็จในบทบาท 28 ราย แต่ยังมีบางส่วนที่เป็นผู้ป่วยเรื้องรัง และกิจกรรมที่สอนไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยในเฉพาะรายจึงมีแนวคิดจัดทำโครงการต่อเนื่อง/ ขยายผล โดยการพัฒนากิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อจากการมีโปรแกรม/ รูปแบบ ในการฝึกทักษะที่มีอยู่แล้ว เพื่อการพัฒนาคุณภาพและหาโอกาสที่ดีให้แก่ผู้ป่วยจิตเวชที่ดีที่สุด หรือการขยายผลโดยเพิ่มพื้นที่บริการ ข้อเสนอแนะ 1.ครูฝึกในโรงพยาบาลจะมีภากิจมากทำให้บางครั้งมีมีเวลามาทำหน้าที่ได้เต็ม 100% ส่วนมากจะให้พี่เลี้ยงซึ่งมีหน้าที่ดูแลและคอยกระตุ้นสมาชิกให้ทำกิจกรรม ต้องทำหน้าที่เป็นครูฝึก/ผู้นำกลุ่มแทน 2. คุณสมบัติของผู้ป่วยตามตึกที่ส่งเข้ารับการฝึกทักษะยังไม่เหมาะสม บางคนเรื้อรังเกินไปยากต่อการที่จะกระตุ้นให้ทำกิจกรรม และไม่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ผู้นำกลุ่มเตรียมไว้ ควรมีการคัดกรองให้เหมาะสมกับกลุ่ม / กิจกรรม 3. การฝึกกิจกรรมต้องการ วัสดุ – อุปกรณ์ และสถานที่ ที่ให้สมาชิกได้มีการฝึกภาคปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี และถ้าเป็นไปได้ต้องการให้ลงฝึกจากสถานการณ์จริง 4.สถานที่แคบเป็นห้องที่แบ่งสัดส่วน ไม่มีบริเวณหรือที่โล่งกว้างทำให้ไม่เหมาะสมในการจัดกิจกรรม Recretion หรือกิจกรรมการบ้าน เช่น ซักล้าง การเกษตร เป็นต้น 5. พี่เลี้ยง / ครูฝึก ควรได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถ และฝึกทักษะที่ชำนาญอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, ทักษะ, การดำรงชีวิต, ทักษะพื้นฐาน, การดำรงชีวิต, ศูนย์กิจกรรม, โรงพยาบาลศรีธัญญา, ฟื้นฟูสมรรถภาพ, จิตเวชศาสตร์, ทักษะชีวิต, การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000113

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -