ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9

ชื่อเรื่อง/Title: ภูมิปัญญาท้องถิ่น : กรณีศึกษาการพัฒนารูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 166-167.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในช่วงปี 2543-2545 การแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชนเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศไทย โดยหมู่บ้านเกือบครึ่งประเทศมีการแพร่ระบาดของยาเสพติด หมู่บ้าน/ชุมชนเป็นรากฐานของสังคม ดังนั้น การแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนจึงเป็นการทำลายรากฐานของสังคม ซึ่งส่งผลให้ประเทศล่มสลายได้ในที่สุด รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงกำหนดนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไข โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่จากการประเมินผลในช่วงปี 2544-2545 พบว่าปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในเขต 9 (เดิม) ยังไม่ลดลง เนื่องจากภาครัฐไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเท่าที่ควรโปรแกรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดต่างๆจึงไม่สามารถตอบปํญหาของชุมชนได้ ดังนั้น ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 จึงได้จัดโครงการพัฒนารูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนขึ้น โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานในการพัฒนา ทั้งนี้เพื่อให้สามารถตอกปัญหาของชุมชนได้อย่างแท้จริง วัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการป้องกันและแกไขปัญหายาเสพติดในชุมชน และเพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ขอบเขตการวิจัย ประชากรที่ศึกษาคือ ชาวบ้านทุกคนในพื้นที่กรณีศึกษา จำนวน 3,101 คน ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษารายกรณี โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เลือดศึกษาแบบเฉพาะเจาะจงในตำบลน้ำเฮี้ย และ ตำบลบ้านไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงแบ่งนักวิจัยเป็น 3 ทีม คือ ทีมศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 ทีมสถานีอนามัย และทีมจากหมู่บ้าน โดยทีมจากหมู่บ้านเป็นตัวแทนชาวบ้านที่ชาวบ้านคัดเลือกกันเอง ซึ่งนักวิจัยทั้ง 3 ทีมต่างมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันไป เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีหลายส่วน ได้แก่ แนวการสัมภาษณ์เพื่อศึกษาชุมชน แบบสอบถามการใช้สารเสพติด แบบสังเกตการมีส่วนร่วมในการประชุม แนวการสัมภาษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด แบบสอบถามความพึงพอใจของประชาชนต่อโปรแกรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และแบบวัดความรู้ ก่อนปละหลังการอบรม เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นช่วงๆ ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ศึกษาโดยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (บันทึกเทป) การสังเกต การศึกษาจากเอกสาร/บันทึก/ทะเบียนต่างๆ การสอบถาม และการทดสอบความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา เช่น หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้วิธี วิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่าในเชิงกระบวนการ การพัฒนารูปแบบฯ เริ่มด้วยการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนทั่วไปและคัดเลือกแกนนำชุมชนเข้ามาทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการ จากนั้นทำการสำรวจการใช้สารเสพติดก่อนดำเนินโครงการ ทบทวน/สำรวจภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ในดการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านวิเคราะห์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นองค์ความรู้ใหม่ จากนั้นนำมาดำเนินการแก้ไข ติดตามผลและตรวจสอบเป็นระยะ รวมทั้งประเมินผลเมื่อสิ้นสุดโครงการ ในเชิงเนื้อหา กิจกรรมสำคัญที่สุดในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในมุมมองของชาวบ้านคือ การเสริมสร้างอาชีพ และการลดกระแสบริโภคนิยม ข้อเสนอแนะ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ต้องให้เวลากับชุมชนได้คิดทดลองและตรวจสอบ ภาครัฐไม่ควรแทรกแซงความคิดหรือเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะจะทำให้ชาวบ้านขาดความมั่นใจหยุดชะงักและรอคอยให้ภาครัฐจัดการ ต่อไป

Keywords: ยาเสพติด, การแพร่ระบาด, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, การป้องกัน, สารเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000115

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -