ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ไพลิน ปรัชญคุปต์

ชื่อเรื่อง/Title: การสนับสนุนทางสังคมของครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 169-170.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ความเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเภท เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่จัดให้ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลมาเป็นการดูแลรักษาในครอบครัวและชุมชน ถ้าจำเป็นต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลก็พยายามให้อยู่ในโรงพยาบาลในระยะสั้นที่สุด และจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลสู่ชุมชนโดยเร็ว โดยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาที่บ้าน ซึ่งเป็นการดูแลที่เน้นการฟื้นฟูสภาพเพื่อป้องกันการกลับป่วยซ้ำ เป็นการดูแลต่อเนื่องสำหรับผู้ป่วยเรื้อรังหรือผู้ป่วยที่มีอาการทุเลาพอที่จะอยู่บ้านได้ ครอบครัวจึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการให้การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยในขณะอยู่ที่บ้านต่อจากโรงพยาบาล ซึ่งการที่ครอบครัวจะดูแลผู้ป่วยได้ดีนั้น จะต้องมีการสนับสนุนทางสังคมที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้เกิดการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสมต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและอธิบายถึงการสนับสนุนทางสังคมของครอบครัวที่มีต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่บ้าน ขอบเขตการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นผู้ป่วยจิตเภท สมาชิกที่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกับผู้ป่วยจิตเภท สมาชิกในชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ที่ทำการศึกษา ระเบียบวิธีวิจัย เป็นกรณีศึกษา โดยใช้การศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อศึกษาการสนับสนุนทางสังคมของครอบครัวที่มีต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเภทและผลที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนทางสังคมของครอบครัวที่มีต่อผู้ป่วยจิตเภท กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยประกอบด้วยผู้ป่วยจิตเภท ครอบครัว และชุมชน ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ใกล้ตัวเมืองขอนแก่น ระยะเวลาเก็บรวบรวมข้อมูล 3 เดือน ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับ การสังเกต เครื่องมือในการศึกษาได้แก่แนวคำถามการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเภท ครอบครัว และชุมชน ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีเคราะห์เนื้อหาโดยการจัดหมวดหมู่ของข้อมูลและสรุปนำเสนอข้อมูลในเชิงบรรยาย สรุปผลวิจัย ผลการวิจัยพบว่า ครอบครัวและชุมชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนทางสังคมกับผู้ป่วยจิตเภทใน 3 ด้าน ด้านที่หนึ่งคือการสนับสนุนทางสังคมด้านอารมณ์ โดยครอบครัวให้การสนับสนุนที่สำคัญได้แก่ การแสดงความเข้าใจ ความเห็นใจ และความดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีการให้กำลังใจเมื่อผู้ป่วยทำความดีและการควบคุมอารมณ์ของครอบครัวเมื่อผู้ป่วยมีอาการหงุดหงิดหรือโกรธ ส่วนการสนับสนุนทางสังคมของชุมชน ที่มีต่อครอบครัวและผู้ป่วยในด้านนี้ ที่สำคัญได้แก่ การรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาเมื่อมีเรื่องไม่สบายใจหรือแก้ไข ปัญหาไม่ได้ ด้านที่สองคือการสนับสนุนทางสังคมด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งครอบครัวมีส่วนสนับสนุนที่สำคัญได้แก่ การให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องโรคจิตเภท ซึ่งรวมถึงถึงการให้คำแนะนำในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามคำแนะนำแพทย์และพยาบาลโดยเฉพาะการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี การส่งเสริมให้ผู้ป่วยออกกำลังกายและพักผ่อนที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆร่วมกับครอบครัวและชุมชน ส่วนการสนับสนุนทางสังคมด้านนี้ของชุมชนที่มีต่อ ผู้ป่วย และครอบครัว ที่สำคัญคือการกระตุ้นและสังเกตอาการทางคลินิกของผู้ป่วยร่วมกับครอบครัว ยิ่งกว่านั้น ชุมชนยังให้คำแนะนำในการไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ด้านที่สามคือการสนับสนุนทางสังคมด้านสิ่งของจำเป็นครอบครัวให้การสนับสนุนสำคัญคือการจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน การจัดหาอาหารและยาไว้ให้ นอกจากนี้ครอบครัวยังพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือไปรับยามาให้ผู้ป่วย ส่วนการสนับสนุนทางสังคมด้านนี้ของชุมชนที่มีต่อผู้ป่วยและครอบครัวที่สำคัญได้แก่ เพื่อนบ้านให้ความช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารและยา เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยไปรับยามาให้ผู้ป่วยแทนครอบครัวในกรณีที่ครอบครัวไม่สามารถไปรับยาได้ด้วยตนเอง การสนับสนุนทางสังคมของครอบครัวและชุมชนทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีและการรักษาที่ต่อเนื่อง ในที่สุดผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีความสุข ข้อเสนอแนะ ครอบครัวและชุมชนยังต้องการทักษะในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการ ดังนั้น จึงควรมีการการถ่ายทอดความรู้หรือทักษะในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทให้แก่ครอบครัวและชุมชนให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม ตลอดทั้งส่งเสริมให้บุคลากรสาธารณสุขให้มีทักษะและความรู้ในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทให้มากยิ่งขึ้น

Keywords: ผู้ป่วยจิตเภท, ครอบครัว, สังคม, โรคจิตเภท, อารมณ์, ชุมชน, ญาติผู้ป่วยจิตเวช, จิตเวช, โรคจิต, จิตเวชศาสตร์, การสนับสนุนทางสังคม, การดูแลผู้ป่วยจิตเภท

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000120

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -