ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ณัฎฐญา พัฒณะวาณิชนันท์, นพ. รณชัย ตั้งมั่นอนันตกุล,ศิริพรรณ บุตรศรีและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพจิตชุมชน และการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตแบบองค์รวมโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 172-173.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การสังคม และสิ่งแวดล้อม บุคคลที่ปรับตัวไม่ทันกับเหตุการณ์ จะเกิดความเครียด ความวิตกกังวล ซึมเศร้า หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องย่อมเกิดผลกระทบต่อ บุคคลครอบครัว และสังคม ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ(อัตราฆ่าตัวตาย ช่วงพ. ศ.2543,2544 และ2545 =6.5 7.1 และ 8.1 ตามลำดับ) หรือคิดเป็นจำนวนผู้เสียชีวิต เท่ากับ 4,000-5,200 คน ต่อปีนับเป็นปัญหาที่สร้างความสูญเสียให้แก่ครอบครัวและสังคมโดยรวม เป็นจำนวน 5,500 ล้านบาทต่อปีโรงพยาบาลวังน้อย ตามการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เช่น เดียวกัน จึงได้มีแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่องโดยใช้แนวคิดการบูรณาการ การส่งเสริม ป้องกันรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพปัญหาสุขภาพจิตแบบองค์รวมให้บริการตามแนวคิด Holistic Integrated and Continuous และสร้างเสริมพลังชุมชน โดยมี 4 ประสาน คือ สถานบริการสาธารณสุข ครอบครัวและชุมชน (บ้าน วัด โรงเรียน) และองค์การบริหารส่วนตำบล ให้มีบทบาทการมีส่วนร่วมในการแก้ไขและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตชุมชน วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ทั้งเชิงรับและเชิงรุก 1. พัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานการดูแลผู้มีปัญหาจิตสังคม ในสถานบริการโดยสหสาขาวิชาชีพ ในสถานบริการโรงพยาบาลวังน้อยและเครือข่าย PCU ในอำเภอ 2. เชื่อมโยงบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพจิตชุมชน และการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตแบบองค์รวมโดยใช้ชุมชนเป็นพื้นฐาน และสร้างเสริมพลังชุมชนในการมีส่วนร่วม 4 ประสาน กลวิธีดำเนินการ 1. พัฒนาคุณภาพระบบบริหาร ดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและภาวะวิกฤตทางอารมณ์ โดยทีมสหสาขาวิชาชีพโดยการจัดอบรมพัฒนาบุคลากรในโรงพยาบาล และ PCU เครือข่าย ประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำระบบบริการเฝ้าระวังดูแลผู้มีปัญหาซึมเศร้า และฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง พัฒนาระบบส่งต่อแบบเชื่อมโยง ทั้งระบบส่งต่อภายในสถานบริการและระบบส่งต่อระหว่างสถานบริการ จนสามารถติดตามดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องแบบองค์รวม 2. สร้างเสริมสุขภาพจิตชุมชนและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตแบบองค์รวม โดยใช้ชุมชนเป็นฐานโดยจัดบริการเชิงรุกสู่ชุมชน โดยการใช้ชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องและช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ตลอดจนเผยแพร่แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนทั่วไปในชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจิตในชุมชน ดังนี้ 2.1ในครอบครัวจัดทำ “โครงการเสริมสร้างสุขภาพใจภาคประชาชน” อำเภอวังน้อย แก่แกนนำชุมชน เพื่อเป็นภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตแก่ชุมชนจำนวน 45 คน ครอบคลุม 9 หมู่ บ้านเป้าหมาย อบรมแกนนำหมอชาวบ้าน เสริมสร้างสุขภาพกาย จิต ประจำครอบครัว โดยงบประมาณ อบต. 2.2ในโรงเรียนจัดทำ “ โครงการอบรมแกนนำเยาวชน มุมเพื่อใจวัยรุ่น” เพื่อสร้างแกนนำเยาวชน กลุ่มเพื่อช่วยเพื่อนในโรงเรียนมัธยมระดับอำเภอ จำนวน 35 คน ทำหน้าที่ให้บริการศึกษา ช่วยเผยแพร่เทคโนโลยีการป้องกันทำร้ายตนเองแก่สถานศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 2.3 ในวัด จัดทำ “ โครงการอบรมแกนนำสามเณร และพระสงฆ์กัลยาณมิตร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตแก่สามเณร ในวิทยาสงฆ์ และประชาชนทั่วไป” 2.4 เชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้สู่ชุมชนด้วยช่องทาง “ วิทยุชุมชน” อำเภอวังน้อย 3 สถานี 2.4.1 วิทยุชุมชนคนรักดีเพื่อพระพุทธศาสนา FM 89.25 สายด่วนสุขภาพจิต แก้ปัญหาชีวิตด้วยวิธีดีๆ โดยแกนนำ สามเณรและพระสงฆ์กัลยาณมิตร 2.4.2 วิทยุชุมชนเพื่อคนรักครอบครัว FM 95.75 ตอบปัญหาสุขภาพจิตครอบครัว เผยแพร่ องค์ความรู้ส่งเสริมครอบครัวอบอุ่น เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ โดยเครือข่ายแกนนำเยาวชนในโรงเรียนกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเผยแพร่องค์ความรู้ด้านทักษะชีวิต แก่เพื่อนเยาวชนในอำเภอ 2.4.3 วิทยุชุมชนเพื่อคนวัยทำงาน FM 108 เน้นสร้างเสริมสุขภาพจิตกลุ่มวัยทำงาน ซึ่งมักขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้องรัง ตอบปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และบริการติดตามเยี่ยมบ้านฯลฯ สรุปและข้อเสนอแนะ ผลการดำเนินงานโครงการบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพจิตชุมชนและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตแบบองค์รวม โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ที่ผ่านมาผู้ประสบภาวะวิกฤติ ได้รับการช่วยเหลือให้ผ่านพ้น ภาวะวิกฤตสุขภาพจิตโดยปลอดภัยทุกราย การปฏิบัติงานได้รับความร่วมมือการทำงานเป็นทีมและมีการส่งต่ออย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิผล ภาพและมีประสิทธิผล บุคลากรในทีมวิกฤตสุขภาพจิตของโรงพยาบาลวังน้อยทุกคนมีความมุ่งมั่นและเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง สามารถให้การช่วยเหลือทางด้านสังคมจิตใจ ของผู้ประสบภาวะวิกฤติได้เป็นอย่างดี ผลการดำเนินงานเชิงรุกสู่ชุมชน สามารถสร้างพลังชุมชนในการร่วมมือประสานงานสร้างแกนนำสุขภาพจิตในระดับหมู่บ้าน แกนนำสุขภาพจิต เยาวชนในโรงเรียน แกนนำพระกัลยามิตรสามเณรในวัด ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนในการช่วยเหลือทางด้านสังคมและจิตใจแก่ประชาชนในชุมชน ทั้งในระดับบุคคลครอบครัว และชุมชนให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี มีความสุขต่อไป ข้อเสนอแนะ ควรมีการรณรงค์ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและภาวะวิกฤตทางอารมณ์ในกลุ่มวัยทำงานในสถานประกอบการโดยให้เจ้าของประกอบการเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตในโรงงานอุตสาหกรรมโดยการเผยแพร่ทางเทคโนโลยี การป้องกันและทำร้ายตนเองการส่งเสริมสุขภาพจิตในสถานประกอบการให้เพิ่มมากขึ้น เพราะะปัจจุบันผู้บริหารสถานประกอบการยังไม่เห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตในโรงงานและไม่ให้โอกาสให้บุคลากรสาธารณสุขได้เข้าไปทำกิจกรรมกับกลุ่มวัยทำงาน เนื่องจากความเร่งรัดด้านเวลาและปัญหาการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ควรพัฒนาการจัดรายการวิทยุชุมชนที่มีการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาทักษะชีวิต และส่งเสริมสุขภาพจิต และการป้องกันการฆ่าตัวตาย ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวัยแรงงานให้มากขึ้น

Keywords: สุขภาพจิต, ความเครียด, ความวิตกกังวล, ซึมเศร้า, การฆ่าตัวตาย, แนวโน้ม, ครอบครัว, สังคม, การป้องกัน, ชุมชน, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลวังน้อย

Code: 20050000122

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: