ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ไพลิน ปรัชญคุปต์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความเครียดและวิธีเผชิญปัญหาของสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 185.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ความเครียดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพทุกคนมีโอกาสที่จะประสบกับภาวะความเครียดได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นในช่วงขณะที่อยู่ในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือในที่อื่นๆ ก็ตาม ปัจจุบันจากสถิติการวินิจฉัยปัญหาทางสังคมในผู้ป่วยของกลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ ปี 2547 พบว่ามีปัญหาคู่สมรสนอกใจถึง 148 ราย และในจำนวนนั้นเป็นเพศหญิงจำนวน 118 ราย ดังนั้น จึงมีความสนใจที่จะศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาความเครียดและวิธีเผชิญปัญหาของสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจ วัตถุประสงค์ 1)เพื่อศึกษาความเครียดของสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจ 2)ศึกษาวิธีเผชิญความเครียดของสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจ และ 3) เปรียบเทียบวิธีเผชิญความเครียดของสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจที่มีระดับความเครียดต่างกัน ขอบเขตการวิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจ โดยเป็นผู้รับบริการที่มารับบริการ ณ กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ และได้รับการวินิจฉัยทางสังคมว่ามีปัญหาคู่สมรสนอกใจ ปี พ.ศ. 2547 ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจ โดยเป็นผู้รับบริการที่มารับบริการ ณ กลุ่มงานสังคมสังคมสงเคาระห์และได้รับการวินิจฉัยทางสังคมว่ามีปัญหาคู่สมรสนอกใจ ปี พ.ศ.2547 จำนวน 109 คน โดยมีตัวแปรต้น ได้แก่ วิธีความเผชิญความเครียดของสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดสำหรับประชาชนชาวไทย และแบบสอบถามวิธีเผชิญความเครียดของสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจ ผู้วิจัยดำเนินการ เก็บรวมรวบข้อมูลส่วนตนเอง โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลเป็นเวลา 1 ปี ตุลาคม 2546 ถึง กันยายน 2547 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม spss/pc สรุปผลการวิจัย สตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจมีความเครียดในระดับสูงกว่าปกติเล็กน้อยโดยอายุระหว่าง 21-30 ปี มีระดับความเครียดสูงสุด อายุแตกต่างกันมีระดับความเครียด ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สถานภาพสมรสแตกต่างกันมีระดับความเครียดไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ระดับการศึกษาแตกต่างกันมีระดับความเครียด ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ประกอบอาชีพ แตกต่างกันมีระดับความเครียด ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ระยะเวลานอกใจแตกต่างกันมีระดับความเครียด ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจใช้วิธีการเผชิญความเครียดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจที่มีระดับความเครียดแตกต่างกันมีวิธีการเผชิญความเครียดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ทั้งนี้ อาจจะมีสาเหตุมาจากวิธีเผชิญความเครียดเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลที่จะเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ ข้อเสนอแนะ สตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจควรมีการฝึกฝนเพื่อควบคุมตนเองไม่ให้เกิดความเครียดและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด ยอมรับและพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ มีการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการปรับตัวให้เข้ากับภาวะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และสถานบริการสาธารณสุขหรือหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน ควรจัดกิจกรรมหรือจัดโครงการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจ ตลอดทั้งทักษะปฏิบัติในการผ่อนคลายความเครียด การลดระดับความเครียดด้วยตนเอง และการเผชิญความเครียดอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพให้แก่สตรีที่มีปัญหาคู่สมรสนอกใจต่อไป

Keywords: ความเครียด, เครียด, คู่สมรส, ครอบครัว, สังคม, สตรี, ปัญหาคู่สมรสนอกใจ, ชู้, สุขภาพจิต, ภาวะเครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000131

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -