ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุจินดา ยิ่งรักศรีศักดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาสมรรถนะการพยาบาลในการพยาบาลผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะ แขนขาที่มีภาวะวิกฤติทางอารมณ์ : กรณีศึกษาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 189.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล สาเหตุของการสูญเสิยอวัยวะแขนขาส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุและโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่สูญเสีย ปีสุขภาวะเป็นอันดับ 2 และอันดับ 5 ของประเทศ ดังนั้น ปัญหาที่เป็นสาเหตุการสูญเสียอวัยวะแขนขาจึงมีแนวโน้มจะเพิ่มมากและรุนแรงขึ้น การสูญเสียอวัยวะแขนขาจะทำให้เกิดความพิการจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ต้องพึ่งพาบุคคลอื่นมีผลกระทบต่อความรู้สึกของบุคคลโดยตรง จากบุคคลปกติกลายเป็นบุคคลพิการ มีผลต่อบทบาทหน้าที่ในครอบครัว หน้าที่การงานหรือบทบาทในสังคม รวมถึงด้านคุณภาพชีวิตการทำงาน เศรษฐกิจ สังคม ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ส่งผลต่อการปรับตัวและยอมรับสภาพตนเองโรงพยาบาลร้อยเอ็ด มีผู่ป่วยสูญเสียอวัยวะแขนขาปี 2545-2546 พบว่า จำนวน 99 ราย และ 116 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก อุบัติเหตุ โรคเบาหวาน ปัญหาอุบัติเหตุโรงพยาบาลร้อยเอ็ดปี 2545-2547 พบว่า มีจำนวน 2,275 ราย 2,251 และ 2,573 รายรวม ทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานปี 2545-2547 พบว่า มีจำนวน 2,275 ราย 2,251 ราย และ 2,573 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยังสูงติดต่อกัน 3 ปี จากข้อมูลดังกล่าว แนวโน้มสถานการณ์โรคที่เป็นสาเหตุการสูญเสียอวัยวะแขนขาสูงขึ้นและผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต จากการสอบถามพยาบาลโรงพยาบาลร้อยเอ็ด พบว่า ผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะแขนขาบางราย มีพฤติกรรมซึมเศร้า บางรายมีพฤติกรรมก้าวร้าว ปฏิเสธการร่วมมือในการดูแลตนเอง จากพฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะแขนขา มีปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม ซึ่งการที่ผู้ป่วยมีความเครียดจากการสูญเสียอวัยวะแขนขา ถ้าสามารถเผชิญความเครียดได้ สามารถปรับตัวได้ระดับความเครียดจะลดลงอารมณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถปรับตัวตัวได้และขาดการสนับสนุนจากญาติหรือบุคคลากรในทีมสุขภาพผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางอารมณ์ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่รุนแรงได้ ซึ่งพยาบาลเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและมีโอกสนช่วยเหลือผู้ป่วยให้ปลอดภัยมากที่สุดควรมีความรู้และทักษะเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตทางอารมณ์ จากการศึกษาและสังเกตพฤติกรรมการพยาบาลของพยาบาล พบว่า พยาบาลปฏิบัติการดูแลด้านจิตใจน้อยและไม่ปรากฎชัดเจนในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตทางอารมณ์ จึงควรมีการพัฒนาสมรรถภาพการพยาบาลดังกล่าว ให้สอดคล้องกับลักษณะงานที่ทำ และเป็นปัญหาจากการปฏิบัติงานที่ทำ และเป็นปัญหาจากการปฏิบัติงานของพยาบาลจะทำให้มีผลต่อการปฏิบัติที่ยั่งยืน ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงใช้ขั้นตอนการช่วยเหลือ 4 ขั้นตอน ( Robert, 2000) เป็นแนวทางการพัฒนาสมรรถนะการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตทางอารมณ์จากการสูญเสียอวัยวะแขนขา วัตถุประสงค์ การศึกษาอิสระนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะการพยาบาลในการพยาบาลผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะแขนขาที่มีภาวะวิกฤตทางอารมณ์ โดยใช้แนวคิดตามกระบวนการเชิงระบบ คือ ปัจจัยนำเข้า ได้แก่ ผู้ฝึกอบรมซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ มีประสบการณ์ทำงานการดูแลผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะแขนขา ผ่านการฝึกทักษะการช่วยเหลือบุคคลที่มีภาวะวิกฤติทางอารมณ์ และการสอนพยาบาลเกี่ยวกับการพยาบาลบุคคลที่มีภาวะวิกฤตทางอารมณ์ ผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ ระดับปริญญาตรี แผนกศัลยกรรมจำนวน 8 คน ผ่านการฝึกอบรมให้การปรึกษา ระยะสั้น 3 วัน และทำงานในหอผู้ป่วยที่ดูแลผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะแขนขา การดำเนินโครงการได้รับการสนับสนุนด้านนโยบาย สถานที่ และอุปกรณ์ จากผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด และหัวหน้าพยาบาล หลักสูตรการอบรมมี 2 ระยะ คือ การฝึกอบรมระยะที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการเกิดภาวะวิกฤติทางอารมณ์ในผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะแขนขา และการช่วยเหลือ ใช้ระยะเวลาอบรม 1 วัน โดยการบรรยาย อภิปราย และบทบาทสมมติ การฝึกอบรมระยะที่ 2 ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติในหอผู้ป่วย โดยใช้หลักการสอนฝึกประสบการณ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่สูญอวัยวะแขนขา ที่มีภาวะวิกฤตทางอารมณ์ ระยะการฝึกอบรม 6 สัปดาห์หลังสิ้นสุดการฝึกอบรมระยะที่ 1 ผลการพัฒนา พบว่า พยาบาลผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 8 คน มีความรู้เพิ่มขึ้น และมีความสามารถในการประเมินและช่วยเหลือผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะแขนขา ที่มีภาวะวิกฤติทางอารมณ์ได้โดยในจำนวนผู้ป่วย 8 คนมี 4 คน เป็นผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะแขนขา ที่ยังไม่เกิดภาวะวิกฤติทางอารมณ์ และอีก 4 คน เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤติทางอารมณ์ พยาบาลได้ให้การพยาบาลจนทุกคนผ่านภาวะวิกฤติทางอารมณ์ และหอผู้ป่วยในแผนกศัลยกรรมมีรูปแบบการดูแลผู้ป่วยสูญเสียอวัยวะแขนขา ที่มีภาวะวิกฤติทางอารมณ์โดยมี ขั้นตอนการ ดูแลและการมอบหมายการดูแลเป็นรายบุคคล

Keywords: สุขภาพจิต, พฤติกรรม, ซึมเศร้า, อารมณ์, จิตใจ, สังคม, การพยาบาล, อุบัติเหตุ, โรคเบาหวาน, อวัยวะ, พิการ, ครอบครัว, คุณภาพชีวิต, การปรับตัว, แนวโน้ม,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลร้อยเอ็ด

Code: 20050000133

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: