ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กนกวรรณ ทาสอน

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของกลุ่มการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อความวิตกกังวลในผู้ป่วยโรควิตกกังวล

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 240-241. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของกลุ่มการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมต่อความวิตกกังวลในผู้ป่วยโรควิตกกังวล ที่มารับบริการในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2544 จำนวน 25 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 10 คนกลุ่มควบคุม 15 คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย กลุ่มทดลองได้รับการเข้ากลุ่ม การเรียนรู้แบบมีส่นร่วม ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นตามแนวคิดการบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา โดยใช้หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมาเป็นกลวิธีในการจัดกิจกรรมกลุ่ม กลุ่มทดลองเข้าร่วมกลุ่ม 6 ครั้ง ในเวลา 2 วัน ผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบบันทึกภาวะสุขภาพ แบบฝึกหัดการฝึกผ่อนคลายความเครียดประจำวัน แบบวัดความวิตกกังวลตามแนวคิดของ Speiberger (1987) ผ่านการทดสอบความเชื่อมั่นซ้ำกับผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จำนวน 30 คน แบบวัดความวิตกกังวลขณะปัจจุบันได้ค่าความเที่ยง .82 ส่วนแบบวัดความวิตกกังวลประจำตัวได้ค่าความเที่ยง .74 แผนการทำกลุ่มการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน เก็บรวบรวมข้อมูล 2 ระยะ คือ ระยะก่อนการทดลองและหลังการทดลอง 1 เดือน วิเคราะหืความแตกต่างของคะแนนความวิตกกังวลของผู้ป่วยโรควิตกกังวลระหว่างก่อนการทดลอง และหลังการทดลองระหว่างกลุ่มโดยใช้สถิติ The Mann-Whitney U test และในกลุ่มเดียวกีนโดยใช้สถิติ The wilcoxon matched-pairs singed-ranks test ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพนำมาวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ความวิตกกังวลขณะปัจจุบันของผู้ป่วยโรควิตกกังวลลดลงภายหลังได้เข้ากลุ่มการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹.01) ส่วนความวิตกกังวลประจำตัวไม่มีความแตกต่างกัน และภายหลังการทดลองความวิตกกังวลขณะปัจจุบันและความวิตกกังวลประจำตัวของผู้ป่วยโรควิตกกังวลที่ไม่ได้เข้ากลุ่มการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมไม่มีความแตกต่างกัน และผู้ป่วยโรควิตกกังวลกลุ่มที่ได้เข้ากลุ่มการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมีความวิตกกังวลขณะปัจจุบันน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.01) ส่วนความวิตกกังวลประจำตัว พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน จากการวิเคราะห์เนื้อหาการทำกลุ่มพบว่ากลุ่มทดลองเกิดการเรียนรู้ในหลายประเด็น คือ เรียนรู้และเข้าใจปัญหาการเจ็บป่วยของตนเอง มีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการเผชิญปัญหาและมีการเผชิญปัญหาที่เหมาะสมหลากหลายขึ้น และมีความมั่นใจมากขึ้นว่าตนสามารถบรรเทาอาการของโรควิตกกังวลได้โดยพึ่งพายาน้อยลง นอกจากนี้กระบวนการกลุ่มก่อให้เกิดผลการบำบัดที่สำคัญคือ ความคิดเห็นที่เหมือนกันของชีวิต การให้ข้อมูลและความเกื้อกูลกัน ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยโรควิตกกังวล ส่งเสริมการเผชิญปัญหาที่เหมาะสมโดยลดการพึ่งพายาคลายกังวล และเนื่องจากข้อจำกัดในการวิจัยคือกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย มีระยะเวลาในการศึกษาวิจัยและการติดตามประเมินผลสั้น อาจมีตัวแปรภายนอกที่อาจมีผลต่อผลการทดลองได้ จึงควรมีการพัฒนาแผนการทำกลุ่มอย่างต่อเนื่องและมีการขยายผลต่อไป

Keywords: กลุ่มการเรียนรู้, โรควิตกกังวล, พฤติกรรม, กลุ่มกิจกรรม, แบบวัดความวิตกกังวล, วิตกกังวล, เครียด, ความเครียด, การพยาบาล สุขภาพจิต จิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี

Code: 000000124

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -