ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุทยา นาคเจริญ, เบญจวรรณ สามสาลี, สุลี ตังกุ, พรรณยุพา เจ็งไพจิตร, เกศรียา คณาธรรม

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของโปรแกรมกลุ่มเตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดีต่อความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยนิติจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 198.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ป่วยนิติจิตเวช เป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตซึ่งถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิด และในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไม่สามารถต่อสู้คดีได้ การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นการวิจัยกึ่งทดลอง วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมกลุ่มเตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดีต่อความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยจิตเวช ขอบเขตการวิจัย ผู้ป่วยนิติจิตเวชที่ศาลหรือตำรวจส่งมารับการตรวจรักษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ณ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยนิติจิตเวชที่ศาลหรือตำรวจส่งมารับการตรวจรักษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ณ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต จำนวน 20 ราย ดำเนินการทดลองในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดและแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมจำนวนเท่าๆ กันโดยวิธีจับฉลาก สำหรับกลุ่มทดลองได้รับการเตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดี ตามโปรแกรมกลุ่มเตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดี จำนวน7 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการปฏิบัติกิจกรรมตามปกติของตึกนิติจิตเวช เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล โปรแกรมกลุ่มเตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดีที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยผู้วิจัยได้นำไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา และแบบประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของทัษนีย์ ทัศนิยม และทวีทวีวรรณ บุปผาถา (2542) มีความเชื่อมั่นเท่ากับ.94 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติแมนวิทนีย์ยู(The Mann Whitney U Test) และวิลคอกซัน (Wilcozon Matched Pair Signed Ranks Test) สรุปผลการวิจัยพบว่า ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการต่อสู้คดีสูงกว่าก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และมีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการต่อสู้คดีสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ข้อเสนอแนะ จากการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลจิตเวชและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนิติจิตเวชควรตะหนักและให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยนิติจิตเวช โดยสนับสนุนให้นำโปรแกรมกลุ่มเตรียมต่อสู้คดีมาใช้เตรียมความพร้อมในการต่อสู้คดีของผู้ป่วยนิติจิตเวช เป็นการดูแลช่วยเหลือให้ผู้ป่วยนิติจิตเวช สามารถพิทักษ์สิทธิ์ของตนในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

Keywords: จิตเวช, ความพร้อม, สุขภาพจิต, การดูแลช่วยเหลือ, พยาบาล, ผู้ป่วย, นิติจิตเวช, คดี, ผู้ป่วยนิติจิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ศาล, กฎหมาย, ความอาญา, จิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000140

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: