ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประมัย ฤทธิรณ

ชื่อเรื่อง/Title: ภูมิหลังส่วนบุคคลและครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมฆ่าตัวตายของประชาชนจังหวัดสุรินทร์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 199.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ ปัจจุบันการดำเนินชีวิตของบุคคลในสังคมโลกาภิวัฒน์ ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีความกดดันสูง ขาดที่พึ่งที่ปรึกษา บุคคลจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา การฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ป้องกันได้และจากการศึกษาที่ผ่านมามีการศึกษาเกี่ยวกับครอบครัวกับการฆ่าตัวตาย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อยและไม่สามารถอภิปรายปรากฏการณ์การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นและยังคงอยู่ในสังคมได้ ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาภูมิหลังส่วนบุคคลและครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมฆ่าตัวตายของประชาชนจังหวัดสุรินทร์ เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมฆ่าตัวตายของประชาชน จังหวัดสุรินทร์ และผลกระทบที่เกิดขึ้น วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยศึกษาในผู้มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายที่รับไว้รักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์ จำนวน 14 ราย เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม-กันยายน 2547 โดยวิธีสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและวิธีการติดตามเยี่ยมบ้าน ผลการศึกษา ผู้มีพฤติกรรมฆ่าตัวตายเป็นเพศหญิง 12 ราย เพศชาย 2 ราย อายุ 20-29 ปี พบมากที่สุด ส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อย อาชีพรับจ้าง มีสถานภาพโสด บทบาทในครอบครัวส่วนใหญ่เป็นหลาน สำหรับปัจจัยด้านครอบครัวพบว่าส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเดี่ยว รายได้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นแบบห่างเหิน มีกิจกรรมร่วมกันน้อยและขัดแย้งกัน แบบแผนการเลี้ยงดูที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นแบบปล่อยปละละเลย ผู้เลี้ยงดูส่วนใหญ่เป็นบิดามารดาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รองลงมาได้รับการเลี้ยงดูจากปู่ย่าหรือตายายตามลำพัง เนื่องจากบิดามารดาหย่าร้างกันหรือแยกกันอยู่และทุกรายมีปัญหาการปรับตัวในช่วงอายุ 0-6 ปี การปรับตัวที่ใช้ ทุกรายใช้กลไกทางจิตในการเผชิญปัญหา รวมทั้งมีบุคลิกภาพเป็นคนเก็บกด และปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ฆ่าตัวตายในครั้งนี้คือ ปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ส่วนใหญ่ใช้วิธีการรับประทานยาเกินขนาดส่วนผลกระทบต่อตัวเองด้านร่างกายส่วนใหญ่พบว่ามีอาการปวดท้อง หลังกระทำการฆ่าตัวตาย ไม่มีความคิดทำร้ายตนเองอีก 8 ราย ยังมีความคิดฆ่าตัวตาย 4 รายและไม่แน่ใจว่าจะทำร้ายตนเองอีกหรือไม่ 2 ราย สำหรับผลกระทบต่อครอบครัวพบว่าคนในครอบครัวส่วนใหญ่เป็นห่วง รองลงมาวิตกกังวลเกรงว่าจะทำร้ายตนเองซ้ำ ไม่กล้าดุด่าหรือลงโทษผู้มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย มี 1 รายที่สามีแคลงใจและบุตรแยกตัวไม่ยอมพูดคุยกับผู้มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย สรุป จากผลการศึกษาที่ได้ ทำให้มองเห็นว่าแบบแผนการเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ใน ครอบครัวจะส่งผลต่อการปรับตัวและการเผชิญปัญหาของบุคคล ดังนั้นควรส่งเสริมการมีกิจกรรม ร่วมกันของคนในครอบครัวให้มากขึ้น และส่งเสริมการเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวตั้งแต่วัยเด็กที่เหมาะสมแก่บุคคล เพื่อจะให้เด็กเติบโตมาเป็นคนที่มีสุขภาพจิตที่ดีและเข้มแข็ง

Keywords: ฆ่าตัวตาย, พฤติกรรม, สุขภาพจิต, ครอบครัว, วิตกกังวล, แนวโน้ม, การปรับตัว, บุคลิกภาพ, ความสัมพันธ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลสุรินทร์

Code: 20050000141

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: