ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เพชรา ปาสรานันท์

ชื่อเรื่อง/Title: การพิสูจน์ทฤษฎีการฆ่าตัวตาย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 200-201.

รายละเอียด / Details:

การพยายามฆ่าตัวตายของคนไทยในสังคมปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาองค์ประกอบของโครงสร้างสังคม จากจำนวนข้อมูลที่มีอยู่เพื่อวิเคราะห์แยกแยะผลกระทบที่มีต่อชีวิตบุคคลในสังคมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทางสังคมกับพฤติกรรมการพยายามฆ่าตัวตายและเพื่อพิสูจน์สถานะของทฤษฎีการฆ่าตัวตาย ที่ Emile Durkheim ศึกษาไว้เมื่อปี 1897 โดยวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในสังคมต่างๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาค้นพบว่า การบูรณาการทางสังคม (Social Intergration) มีผลกระทบต่อการฆ่าตัวตายของคนในสังคมและอัตราการฆ่าตัวตายจะแปรผันตามลักษณะของปัจเจกบุคคล (Individualism) โดยศึกษาจากผู้พยายามฆ่าตัวตาย เปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยพยายามฆ่าตัวตาย เก็บข้อมูลกับผู้พยายามฆ่าตัวตายจากผู้มีรายชื่อในทะเบียนประวัติผู้ป่วยตามโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอนระหว่างปี 2545-2547 จำนวน564 ราย ผู้วิจัยได้เลือกใช้วิธีการคัดเลือกตัวอย่างแบบ Case-Control ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาที่เริ่มจากการผลที่เกิดขึ้น (Effect) และย้อนสาเหตุ (Cause) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาสาเหตุของสิ่งที่เราสนใจอยู่ ตัวแปรอิสระ คือบูรณาการทางสังคม ซึ่งประกอบไปด้วยบูรณาในเชิงเนื้อหาและเชิงบริบท ตัวแปรตาม คือ พฤติกรรมการพยายามฆ่าตัวตาย และตัวแปรทดสอบ คือ ลักษณะประชากรและภูมิหลัง ได้แก่ เพศ สถานภาพสมรส รายได้ การศึกษา และอายุ ใช้สอบถามที่สร้างขึ้นเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล 2 ชุด ดังนี้ -ชุดแรกใช้สำหรับถามคนที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งมีข้อคำถามเกี่ยวกับเหตุผลที่ทำให้พยายามฆ่าตัวตายและสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจกระทำโดยคำถามชุดดังกล่าวจะถามข้อมูลย้อนหลังให้ ณ เวลาที่ตัวอย่างพยายามฆ่าตัวตาย -ชุดที่สองใช้สำหรับถามคนที่ไม่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งจะมีคำถามเกี่ยวกับความคิดการพยายามฆ่าตัวตาย และสาเหตุที่ทำให้เกิดความคิดดังกล่าว และเพื่อให้ข้อมูลอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับกลุ่มที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย ผู้ศึกษาจึงได้คำถามย้อนหลังไป 2 ปี การรวบรวมข้อมูลเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ จากแบบสอบถามที่เป็นเครื่องมือ การรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้จากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ และจากการสังเกตการณ์ ใช้แบบสอบถามเป็นแนวทางในการสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการใช้ร้อยละ (Percentages)ในการเปรียบเทียบข้อมูล โดยคิดเป็นค่าร้อยละเพื่อดูการกระจายของตัวแปร และเพื่อนำเสนอข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างในแต่ละหมวดหมู่ของตัวแปรและการทดสอบ ไค-สแควร์ (Chi-Square Technique) ทดสอบความเป็นอิสระ (Test of Independence) และมีความนัยสำคัญทางสถิติ (Test of Statistical of Significance) ที่ค่าความเชื่อมั่น 0.05 เพื่อทดสอบความเป็นอิสระของตัวแปร การศึกษาวิจัยพบว่า เจตนาของการฆ่าตัวตายมาจากการนำความคับข้องใจของตนเองมาแสดงออกอย่างรุนแรงเพื่อ -ประชด ผู้คนรอบข้างเพื่อแสดงความโกรธ ความปรารถนาอย่างรุนแรงของตนด้วยการทำร้ายตนเอง -เรียกร้องผู้ใกล้ชิดของตนเองให้รู้ เข้าใจถึงความคับแค้นข้องใจ ความโกรธ ความไม่พอใจของตนเอง -ลงโทษตัวเอง ความกดดันที่มีอยู่ผนวกกับความผิดพลาด ผิดหวัง ที่ถือเป็นความล้มเหลวในจิตใจของตนเอง ตัวอย่างที่เคยพยายามฆ่าตัวตายตัดสินใจกระทำมากที่สุด มาจาก การประชด วิธีการที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ การกินสารพิษ เช่น ยาแก้ไข้แก้ปวด สารพิษที่ใช้ในการเกษตร ยาระงับประสาท เป็นต้น ตัวอย่างที่ไม่เคยพยายามฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ จะไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย ตัวอย่างที่ไม่เคยพยายามฆ่าตัวตาย แต่เคยคิดฆ่าตัวตายจะมีเหตุผลที่จะกระทำการฆ่าตัวตายเหมือนกลุ่มที่เคยพยายามฆ่าตัวตาย คือ การประชด โครงสร้างทางสังคมในบริบทครอบครัว ที่ทำงานและที่อยู่อาศัย มีผลต่อการพยายามฆ่าตัวตายซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมทางสังคมที่สามารถลดจำนวนได้โดยการให้บุคคลผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายนั้นให้ได้รับการพัฒนาสามัญสำนึกและกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

Keywords: ฆ่าตัวตาย, ทฤษฎี, แนวโน้ม, พฤติกรรม, ความสัมพันธ์, สาเหตุ, ทฤษฎีการฆ่าตัวตาย, พฤติกรรมการพยายามฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000142

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: