ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เกษม ตั้งเกษมสำราญ

ชื่อเรื่อง/Title: โปรแกรมจิตสังคมบำบัดผู้ป่วยนอกแบบประยุกต์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 259-260. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

จิตสังคมบำบัด เป็นโปรแกรมการบำบัดการรักษาผู้ติดสารเสพติดแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งได้รับการยอมรับว่าได้ผลดีในด้านการบำบัดผู้ติดยาและสารเสพติด ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการบำบัดรักษาทางด้านร่างกาย จิตใจ และปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรมของผู้ป่วยโดยประยุกต์โปรแกรมแมทริกซ์จากประเทศสหรัฐอเมริกาใช้เวลาการบำบัด 4 เดือน โดยผู้ป่วยต้องเข้ากลุ่มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง กลุ่มครอบครัวสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสังคมหนึ่งที่ร้ายแรง และการขยายตัวของปัญหาเพิ่มมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบกับเมื่อมีการประกาศสงครามต้านภัยยาเสพติด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในกรณีต่างๆ มีการตระหนักและยอมรับสภาพการใช้ยาเสพติดว่าเป็นปัญหาขอเข้ารับการบำบัดทั้งสิ้น จำนวน 233 คน ในขณะที่ผู้ทำหน้าที่บำบัดจำนวนจำกัด เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดทั้งสิ้น 1 : 47 และจากการปฏิบัติงานในระยะหลายปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยโรคจิตจากเมทแอมเฟตามีนมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งการได้รับเมแอมเฟตามีนขนาดที่สูง และระยะนานเป็นสาเหตุให้เกิดอาการทางจิตได้ จากรายงานของผู้รับบริการบำบัดยาเสพติดพบผู้ป่วยจิตเวช จำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.29% จากปัญหาเหล่านี้จึงมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการคัดแยกผู้ติดสารเสพติด และประยุกต์โปรแกรมออกเป็น 3 กลุ่ม 3 โปรแกรม ดังนี้ 1. กลุ่มติดสารเสพติดระยะเริ่มต้น ใช้ Matrix Program 1 บำบัดวันพฤหัสบดี เวลา 09.00-12.00 น. 2. กลุ่มติดสารเสพติดระยะปานกลาง ใช้ Matrix Program 2 บำบัดวันอังคาร เวลา 09.00-12.00 น. บำบัดวันศุกร์ เวลา 13.00-16.30 น. 3.กลุ่มติดสารเสพติดระยะรุนแรง ใช้ Matrix Program 3 บำบัดวันจันทร์ เวลา 13.00-16.30 น. บำบัดวันพุธ เวลา 13.00-16.30 น. โดยยึดโปรแกรมจิตสังคมบำบัดเดิม และเน้นพื้นฐานหรือแม่แบบเดิมไว้ ซึ่งแต่ละโปรแกรมจะมีกิจกรรมเสริมสร้างหลักสูตรต่างๆ มาช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ง่ายและชัดเจนขึ้น เน้นให้ผู้รับการบริการได้แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและใช้ระบบพี่เลี้ยงกลุ่ม ระบบคู่หู Buddy ผลการประยุกต์โปรแกรมจิต สังคม บำบัดแบบผู้ป่วยนอก มีผู้เข้ารับการบำบัดทั้งสิ้น 233 คน เป็นค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 9 คน ให้คำปรึกษาในชุมชน 22 คน จิตสังคมบำบัดในโรงเรียน 26 คน เข้าโปรแกรมจิตสังคมบำบัดกลุ่มเบาบาง 35 คน กลุ่มปานกลาง 55 คน และกลุ่มรุนแรง 86 คน บำบัดครบ 4 เดือน ตามโปรแกรม 148 คน ไม่กลับไปเสพซ้ำ 148 คน เสียชีวิต (เยื่อหุ้มสองอักเสบ) 1 คน ส่งไปรักษาต่อโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ จำนวน 1 คน อยู่ระหว่างการบำบัดก่อนจบโปรแกรม 83 คน โปรแกรมการติดตามหลังการบำบัดเสร็จสิ้นตามหลักสูตรต่างๆ ทีมผู้บำบัดได้แบ่งแนวทางการติดตามเป็น 2 แนวทางคือ - มาพบที่ทำงาน ทั้ง 148 คน (100%) - เยี่ยมบ้าน ทั้ง 148 คน (100%) สรุปผลของการประยุกต์โปรแกรมจะเห็นได้ว่า 1. มีกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดบางส่วนขอเข้ามาบำบัดเองโดยสมัครใจเพิ่มขึ้น ซึ่งสืบมาจากกลุ่มผู้รับการบำบัดกลุ่มที่เคยมาบำบัดได้กลับไปเล่าประสบการณ์บำบัดให้ฟัง ทำให้ผู้รับการบำบัดที่เคยมีแนวคิดด้านลบของการบำบัดเกิดความคิดด้านบวกเห็นผลของการบำบัด, ยอมรับปัญหาตนเองมากขึ้น 2. ผู้รับการบำบัดมีความรับผิดชอบมาบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เช่น บางคนติดธุระ ทำมาหาเลี้ยงชีพผู้รับการบัด หรือให้คู่หู (Buddy) มาแจ้งข่าวสารว่าไม่มาบำบัดเพราะสาเหตุใดแต่จะให้ขาดได้ไม่เกิน 3 ครั้ง และชั่วโมงใดหรือครั้งใดที่ขาดไปจะต้องติดตามซ่อมเสริมของตนเองในในบทเรียนที่ขาดไป แต่ถ้าขาดบำบัดโดยไม่แจ้งหรือไม่ทราบสาเหตุจะมีขบวนการติดตามคือ จดหมายตาม โทรศัพท์ตามให้ตำรวจหมู่บ้านติดตาม กระบวนการติดตามของอำเภอ ข้อเสนอแนะ โปรแกรมที่ประยุกต์ขึ้นมาต้องคงอยู่ซึ่งพื้นฐานเดิมแต่ให้มีความเหมาะสม และได้ประโยชน์กับผู้รับบริการในชุมชนของตนเองให้มากที่สุด

Keywords: จิตสังคมบำบัด, ยาเสพติด, สารเสพติด, โปรแกรมแมทริกซ์, โรคจิต, ยาบ้า, เมทแอมเฟตามีน, การประยุกต์โปรแกรมจิต สังคม บำบัดแบบผู้ป่วยนอก, matrix program

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลทองแสนขัน อำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์

Code: 000000125

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -