ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิตปราณี วาศวิท, กัญจนา ดิษยาธิคม, กุลลักาณ์ เลิศภัทรพงษ์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: อนามัยและสวัสดิการของคนไทยหลังหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตอนที่ 2 เรื่องรายจ่ายด้านสุขภาพของคนไทยก่อนและหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

แหล่งที่มา/Source: วารสารวิชาการสาธารณสุข, ปีที่ 14, ฉบับที่ 2, มีนาคม-เมษายน 2548, หน้า 317-325.

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินภาพรวมสัมฤทธิ์ผลของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในด้านภาระรายจ่ายสุขภาพของประชาชนไทยทั้งประเทศ โดยเปรียบเทียบในช่วงก่อนและหลังมีสิทธิประโยชน์นี้และผลที่มีต่อผู้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในด้านการประหยัดรายจ่ายด้านสุขภาพ ในการวิเคราะห์ใช้ฐานข้อมูล การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2543 ซึ่งครอบคลุมช่วงก่อนและช่วงหลังมีหลักประกันสุขภาพใน พ.ศ. 2545 ประกอบกับฐานข้อมูลการสำรวจของอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2546 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นครัวเรือนตัวอย่างในระดับประเทศ ผลการศึกษาแสดงว่าช่องว่างความไม่เสมอภาคของรายจ่ายครัวเรือนคิดเป็นร้อยละของรายได้ครัวเรือนในกลุ่มยากจนที่สุดและรวยที่สุด ลดลงตามลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 2535, 2537, 2539, 2541 และ 2543 ตามลำดับ เนื่องจากนโยบายรัฐบาลในการขยายการครอบคลุมของหลักประกันที่มีอยู่ เช่น โครงการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย โครงการหลักประกันสุขภาพโดยความสมัครใจ และการขยายโครงการประกันสังคมไปยังสถานประกอบการขนาดเล็ก โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ความแตกต่างในด้านภาระรายจ่ายสุขภาพของครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่องและมกาที่สุด โดยความแตกต่างของสัดส่วนรายจ่ายด้านสุขภาพต่อรายได้ของครัวเรือน กลุ่มยากจนที่สุด (เดไซล์ที่ 1) กับครัวเรือนกลุ่มร่ำรวยที่สุด (เดไซล์ที่ 10) ลดลงอย่างมากใน พ.ศ. 2545 เมื่อเทียบกับช่วงก่อน พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มเดไซลืที่ 1-4 มากกว่ากลุ่มครัวเรือนที่รวย การวิเคราะห์โดยอาศัยฐานความคิดว่าใครได้ใครเสียประโยชน์จากโครงการฯ กลุ่มผู้ที่ไม่มีหลักประกันใดๆ เป็นผู้เสียประโยชน์จากโครงการฯ กลุ่มผู้ถือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีหลักประกันใดๆ แต่ใน พ.ศ. 2546 มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีประมาณ 15 ล้านคน เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ประมาณการว่าสามารถลดภาระรายจ่ายสุขภาพของประชากรกลุ่มนี้ลงถึง 10,634 ล้านบาท และหากผู้ถือบัตรทุกคนใช้สิทธิในบัตรทุกครั้งแล้วจะลดภาระรายจ่ายสุขภาพลงได้เป็นจำนวน 12,726 ล้านบาท ผู้บริหารโครงการฯ ควรหามาตรการให้ประชากรที่ยังไม่มีหลักประกันได้รับสิทธิ์ และศึกษาถึงสาเหตุที่ผู้ถือบัตรไม่ใช้สิทธิประโยชน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำมาประกอบการกำหนดนโยบายด้านการสนับสนุนการบริการต่อไป

Keywords: หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ความแตกต่างรายจ่ายสุขภาพ, กลุ่มเดไซล์ของครัวเรือน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ

Code: 20050000196

ISSN/ISBN: 08584923

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: