ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดวงพร พูลสมบัติ, ดรุณี อุเทนนาม, ปรางฉาย เศรษฐจันทร, ชัยพฤกษ์ ปิลกศิริ, พเยาว์ มาลัยรัตน์, เสถียร แสงจันทร์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: สภาวะสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงของข้าราชการทหารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 18, (เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วไทยเฝ้าระวังภัยทั่วประเทศ) พฤษภาคม 25-27, 2548 ณ. Miracle Grand Hotel, Bangkok, Thailand, หน้า 24-25.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล นโยบายการสร้างเสริมสุขภาพเป็นนโยบายสาธารณะที่ได้รับการผลักดันให้เกิดความมีสุขภาพดีในทุกภาคส่วนของประชาชนคนไทยเพื่อมุ่งสู่เมืองไทยแข็งแรง กระทรวงกลาโมได้ตอบสนองนโยบายดังกล่าวด้วยกำหนดให้กำลังพลทุกระดับชั้นได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กรมแพทย์ทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยรับปฏิบัติ จึงจัดให้มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการด้วยการตรวจร่างกายประจำปีและการส่งเสริมสุขภาพทหาร ณ ที่ตั้งหน่วยทหารในเขกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อศึกษาถึงสภาวะสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่แท้จริงในภาพรวมของข้าราชการและนำใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง แนวโน้มสภาวะสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพในข้าราชการทหารที่มีประสิทธิผลต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต้อสุขภาพในข้าราชการทหาร วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ด้วยการรวบรวมข้อมูลการตรวจร่างกายประจำปี พ.ศ. 2546 และ 2547 ของข้าราชการทหารประจำการ สังกัดหน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากผลการตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจเลือกทางห้องปฏิบัติการ และแบบสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์ถึงสภาวะสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ ผลการศึกษา ในปีการตรวจร่างกายประจำปี 2546 และ 2547 มีข้าราชการทหารเข้ารับการตรวจสุขภาพจำนวน 13,264 และ 14,994 ราย ตามลำดับ สัดส่วนเพศชาย : เพศหญิง เท่ากับ 3:1 อายุ 20-60 ปี เฉลี่ย 42 ปี เมื่อจัดลำดับตามสัดส่วนสภาวะสุขภาพของแต่ละปีที่มีค่าตรวจไม่อยู่ในเกณฑ์ปกติจากมากไปน้อยตามลำดับดังนี้ ค่าบ่งชี้ภาวะไขมันในเลือดสูง (76.62% และ 74.78%), ค่าดัชนีมวลกายเกินเกณฑ์ (26.61% และ 28.83%) อ้วน 5.08% และ 5.77% ปริมาณกรดยูริกในเลือดสูงเกินเกณฑ์ 31.52% และ 33.07% ค่าบ่งชี้สมรรถภาพตับเกินเกณฑ์ 22.75% และ 22.49% และความดันโลหิตสูง 13.45% และ 18.05% ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพพบว่า มีผู้ที่ไม่ออกกำลังกายเลย 23.90% และ 13.82% มีพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบครั้งคราว 67.42% และ 56.96% ดื่มเป็นประจำ 5.08% และ 10.33% มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ 12.14% และ 28.28% เมื่อติดตามสภาวะสุขภาพทั้งสองปี พบว่า สัดส่วนของปัญหาสุขภาพที่มีหแนวโน้มลดลง คือภาวะไขมันในเลือดสูง ทั้งนี้อาจเป็นผลจากการมีพฤติกรรมการออกกำลังกายมากขึ้น แต่ปัญหาสุขภาพทั้งภาวะอ้วน ความดันโลหิตสูง และสมรรถภาพตับ มีแนวโน้มพบมากขึ้น ทั้งนี้สอดคล้องกับการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ ซึ่งมีแน้วโน้มพบเพิ่มขึ้นในข้าราชการทหารที่มีอายุน้อยลง สรุปและเสนอแนะ จากผลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีบรรยากาศทางสังคมชุมชนทหารที่โน้มนำให้เอื้อต่อการมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพสูง ดังนั้นทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพในหน่วยทหารจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งผู้นำหน่วยมีบทบาทสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงและทัศนคติการดูแลสุขภาพของข้าราชการทหาร

Keywords: สภาวะสุขภาพ, พฤติกรรมเสี่ยง, ข้าราชการทหาร, ระบาดวิทยา, พฤติกรรม, พฤติกรรมสุขภาพ, ทัศนคติ, ดื่มสุรา, ดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่, จิตวิทยาhealth status, risk behaviors, military personnel, behavior attitude

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กรมแพทย์ทหารบก

Code: 2005000020

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -