ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศุภวรรณ มโนสุนทร

ชื่อเรื่อง/Title: ผลกระทบของภาวะอ้วนต่อภาระโรคในประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: วารสารวิชาการสาธารณสุข, ปีที่ 14, ฉบับที่ 2, มีนาคม-เมษายน 2548, หน้า 337-344.

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของโรคอันสืบเนื่องมาจากภาวะอ้วน และนำผลลัพธ์ที่ได้มาพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของปัญหาโรคอันสืบเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยง โดยนำข้อมูลทุติยภูมิจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทย คือ Inter ASIA ซึ่งได้สำรวจไว้ใน พ.ศ. 2543 มาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ ในการประมาณค่าภาระโรคที่เป็นผลจากปัจจัยเสี่ยง ตามวิธีการขององค์การอนามัยโลก ผลการศึกษาพบว่า คนไทยมีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินร้อยละ 30 และอ้วนร้อยละ 9 ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรปและอเมริกา มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนประมาณร้อยละ 27 ส่วนผลกระทบของภาวะอ้วนต่อภาระโรค (DALYs=YLL+YLD) ในเพศชายจะมีภาระโรคจากโรคเบาหวานสูงสุด (ร้อยละ49) รองลงมาคือ ความดันเลือดสูงและโรคหัวใจขาดเลือด (ร้อยละ 26 และ 14) ในขณะที่ เพศหญิง คือเบาหวาน (ร้อยละ 67) ความดันเลือดสูง (ร้อยละ 34) และมะเร็งเยื่อบุมดลูก (ร้อยละ 33) สำหรับภาวะอ้วนที่ส่งผลกระทบโดยรวมต่อภาระโรค พบว่าเพศหญิงได้รับผลกระทบจากภาระอ้วนต่อภาระโรคสูงกว่าเพศชาย โดยเพศหญิงมีการสูญเสียของภาระโรคที่เกิดจากภาวะอ้วนจำนวน 236,430 ปีต่อประชากรแสนคน และเพศชายมีความสูญเสีย 122,684 ปีต่อประชากรแสนคน คิดเป็นร้อยละ 6 ในเพศหญิงและ ร้อยละ 2.2 ในเพศชาย โดยทั้งสองเพศได้รับผลกระทบของความสูญเสียจากภาระโรคเนื่องจากภาวะอ้วนทั้งหมด รวมร้อยละ 3.8 และผลรวมของภาระโรค (DALYs) ที่เกิดจากผลกระทบของภาระอ้วนในประชากรไทยส่งผลกระทบต่อโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าโรคหลอดเลือดสมอง ข้อพึงสังเกตคือ แม้ว่าโรคหลอดเลือดสมองจะไม่สูงในประชากรไทย แต่ผลกระทบของภาวะอ้วนต่อปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองคือ ความดันเลือดสูง มีร้อยละที่สูงในประชากรไทย การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าผลกระทบของภาวะอ้วนต่อภาระโรคในอนาคตขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคและสิ่งแวดล้อม การวางแผนกลยุทธิ์เพื่อป้องกัน ควบคุมโรค ควรเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงร่วม โดยภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมปัจจัยหนึ่งที่ควรพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบด้านอื่นๆ ในการจัดการแก้ปัญหา รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางการป้องกันควบคุมภาวะอ้วน โดยแนวทางการวิจัยควรให้ความสำคัญกับการลงทุนทางสุขภาพ การจัดการดูแลตนเองตลอดชีวิต (life course approach) และการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน

Keywords: ภาวะน้ำหนักเกิน, ภาวะอ้วน, ภาระโรค, ความชุก, ระบาดวิทยา, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20050000200

ISSN/ISBN: 08584923

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: