ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์

ชื่อเรื่อง/Title: การดำเนินโรคของโรคจิตจากเมทแอมเฟตามีนในผู้ป่วยที่เสพเรื้อรัง:การศึกษาเบื้องต้น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 102-103. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

โรคจิตจากเมทแอมเฟตามีนเป็นปัญหาที่สร้างความหนักใจให้ผู้รักาาอย่างมาก เนื่องจากในผู้ที่เสพมานานมีลักษณะการดำเนินโรคที่หลากหลาย หลักฐานการยืนยันการเสพทำไได้ค่อนข้างจำกัด และพบผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเรื้อรังและปรับป่วยซ้ำได้สูง วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหลักการดำเนินโรคของโรคจิตจากเมทแอมเฟตามีน ในผู้ป่วยที่เสพเรื้อรัง และติดตามผลระยะยาว (6 เดือน) รวมถึงศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจวัดได้ในปัสสาวะและเส้นผมของผู้ป่วยกับความรุนแรงของอาการโรคจิตที่เกิดขึ้น และศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกลับป่วยซ้ำในผู้ป่วยที่เคยมีอาการโรคจิตจากเมทแอมเฟตามีนมาก่อน สรุปผลการวิจัย ผู้เข้าร่วมโครงการ 28 คน มีจำนวน 25 คน ที่รับการรักษาจนครบ 4 สัปดาห์ เมื่อติดตามถึงเดือนที่ 3 และเดือนที่ 6 มีกลุ่มตัวอย่างที่มาตามนัดหมายจำนวน 15 และ 9 คน ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างโดยเฉลี่ยมาอาการดีขึ้น จากค่าคะแนนรวม PANSS ที่ลดลงในเดือนที่ 1, 3 และ 6 กลุ่มตัวอย่างที่รักษาในโรงพยาบาลครบ 4 สัปดาห์ จำนวน 25 คน มี 23 คน ที่มีอาการโรคจิตสงบ (Psychosis remission) แต่อีก 2 คนยังคงมีอาการโรคจิตคงอยู่ (Psychosis persistence)ในเดือนที่ 3 สามารถติดตามได้เพียง 15 คน ในจำนวนนี้ 2 คน (เดิม) ยังคงมีอาการโรคจิตคงอยู่ แต่พบกลุ่ม ตัวอย่าง 3 คน มีอาการโรคจิตกลับป่วยซ้ำ (psychosis relapse) เมื่อติดตามถึงเดือนที่ 6 สามารถติดตามได้ 9 คน พบว่า 1 คน มีอาการโรคจิตกลับป่วยซ้ำ โดยมีอาการโรคจิตอยู่ในระดับรุนแรงมาก และ 1 คน ที่มีอาการโรคจิตคงอยู่ในเดือนที่ 3 นั้น กลับมีอาการโรคจิตดีขึ้นในเดือนที่ 6 เมื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจวัดได้ในเส้นผม และปัสสาวะกับความรุนแรงของอาการโรคจิตโดยใช้ Spearman Correlation Coefficients พบว่าความรุนแรงของอาการทางจิตโดยคะแนนรวม PANSS ไม่มีความสัมพันธ์กับปริมาณเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะ หรือในเส้นผม แต่ปริมาณเมทแอมเฟตามีนในปัสสาวะมีความสัมพันธ์ทางบวกกับปริมาณเมทแอมเฟตามีนในเส้นผมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.05) เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยที่พบในกลุ่มที่กลับป่วยซ้ำ ไม่พบปัจจัยเร้าทางจิตสังคม ไม่เสพสารเสพติดอื่น และผู้ป่วยได้รับยารักษาโรคจิตอย่างสม่ำเสมอ มีเพียง 1 คนที่หยุดยารักษาโรคจิต ข้อเสนอแนะ การแนะนำให้ผู้ป่วยงดการเสพเมทแอมเฟตามีนซ้ำ น่าจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของการกลับป่วยซ้ำของอาการโรคจิตได้

Keywords: โรคจิต, เมทแอมเฟตามีน, ยาเสพติด, จิตเวช, สารเสพติด, ผู้ติดยาเสพติด, psychiatry, psychosis, metamphetamine, amphetamine

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Code: 00000013

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -