ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรพรรณ์ วรรณฤทธิ์

ชื่อเรื่อง/Title: กุมารแพทย์กับงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กจังหวัดลำพูน.

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

กุมารแพทย์ต้องมีบทบาทกว้างขวางในการบริการด้านการแพทย์โดยตรงต่อผู้ป่วย เด็ก ครอบครัวและชุมชน โดยใช้ความรู้ความสามารถประยุกต์ผ่านเครือข่ายการบริการต่าง ๆ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง มีการเจริญเติบโตของร่างกายพัฒนาการด้านสติปัญญา จิตใจอารมณ์สังคมที่สมวัยและเติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่มีคุณภาพสูงสุดตามศักยภาพของตน Patient Care Team กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลลำพูลซึ่งประกอบด้วยหัวหน้ากลุ่มงานกุมารเวชกรรมเป็นหัวหน้า กุมารแพทย์ พยาบาลหอผู้ป่วยกุมารและเวชกรรมสังคม นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักโภชนาการ ทันตแพทย์ เภสัชกรรม นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ รวมกับสาธารณสุขจังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการโครงการส่งเสริมพัฒนาเด็กจังหวัดลำพูน โดยจัดให้มีบริการส่งเสริมพัฒนาการเด็กครอบคลุมทุกสถานบริการในจังหวัดลำพูน ได้แก่ โรงพยาบาล สถานีอนามัย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง วัตถุประสงค์ กุมารแพทย์มีบทบาทนำ ทำให้เกิดกระบวนการตรวจคัดกรองเด็กเพื่อค้นหาและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่มีพัฒนาการช้าและมีการส่งต่อที่เหมาะสมตามระบบในจังหวัด การดำเนินงานปีงบประมาณ 2544 1. แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กของโรงพยาบาลทุกแห่งซึ่งผ่านการอบรมโครงการผู้ปฏิบัติงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ ประชุมหาแนวทางเพื่อวางหลักเกณฑ์การตรวจวินิจฉัยรักษา ประเมินพัฒนาการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการพร้อมทั้งวางระบบการส่งต่อให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งจังหวัด มีการศึกษาดูงานด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างโรงพยาบาล ลำพูน และโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง 2. โรงพยาบาลลำพูนและโรงพยาบาลชุมชนจัดประชุมชี้แจงโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กแก่เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และอบรมให้ความรู้ครูพี่เลี้ยงศูนย์รับเลี้ยงเด็กในความรับผิดชอบ การดำเนินงานปีงบประมาณ 2543 1. ทีมงานโรงพยาบาลลำพูนได้ร่วมตรวจพัฒนาการพร้อมกับรณรงค์ให้ผู้ปกครองใช้สมุดสีชมพูและกระตุ้นพัฒนาการลูกตนเอง ในการประกวดสุขภาพเด็กที่เทศบาลจัด เดือนกุมภาพันธ์ 2543 พร้อมทั้งตรวจเด็กในศูนย์เด็กเล็กในความรับผิดชอบ 2. ปรับปรุงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและเกณฑ์การส่งต่อระหว่างสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลทั่วไปและศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ วิจารณ์ การดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน กุมารแพทย์โรงพยาบาลลำพูนได้ช่วยเหลือทางวิชาการและสร้างความตระหนักให้บุคลากรทางสาธารณสุขทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลเห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ป่วยและส่งเสริมพัฒนาการเด็กอายุ 0-60 เดือน ผลที่ได้รับแม้จะมีจำนวนเด็กที่ได้รับการดูแลพัฒนาการตัวเลขสูงคิดเป็น 97.89%แต่ยังต้องมีการนิเทศประเมินและติดตามผลว่าเด็กได้รับการดูแลทุกรายการครบถ้วนถูกต้องจริงหรือไม่ซึ่งต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราคงไม่สามารถจะบังคับให้ใครทำงานได้ถ้าเขาไม่อยากจะทำ แต่ในบาทบาทของกุมารแพทย์คงต้องพยายามผลักดันให้กระบวนการส่งเสริมพัฒนาการเด็กนี้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ในอดีตการมองเรื่องสุขภาพของเด็กจะมุ่งกันแต่ในเรื่องของรักษา และมีเป้าหมายเฉพาะตัวเด็ก เมื่อยามเจ็บป่วยการแก้ปัญหาจะเป็นแบบตั้งรับ แต่ในปัจจุบันนอกเหนือจากการรักษาแล้ว เด็กยังต้องการการป้องกัน การปกป้อง การส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพ นั่นก็คือ เด็กจะต้องได้รับการดูแลในเชิงรุกด้วย เพื่อเด็กจะสามารถเติบโตได้เต็มที่ตามศักยภาพของตนเและต้องครอบคลุมไปถึงครอบครัวสังคมและชุมชน (3) ด้วย โดยปลุกเร้าให้พ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนเกิดความสำนึกว่าเด็กเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชุมชน การดูแลเด็กให้มีสุขภาพดี เป็นหน้าที่ของทุกคนในชุมชนและการดูแลเด็กเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียนรู้ได้ ทำได้ (4) กุมารแพทย์ มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือแก่เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า หรือมีความเสี่ยงและครอบครัวในพื้นที่รับผิดชอบ การให้ความรู้ด้านพัฒนาการเด็กโดยการสร้างจิตสำนึกพัฒนาการเด็กอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงต้นของชีวิต จะช่วยเสริมความสามารถและคุณภาพชีวิตของเด็ก การคัดกรอง วินิจฉัย ประเมินความสามารถและพัฒนาการทุกด้าน จัดทำแผนช่วยเหลือให้บิดามารดา ผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญในการทำกิจกรรมฝึกกระตุ้นพัฒนาการเป็นขั้นตอนอิงกับการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปกติ ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ของเด็กจัดหาหรือดัดแปลงอุปกรณ์และเครื่องเล่นให้เหมาะสมกับเด็กและให้การดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ ร่วมไปด้วย ครอบครัวเป็นขั้นตอนการพัฒนาบุคลากรและการสร้างสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขกุมารแพทย์มีความใกล้ชิดกับเด็กและครอบครัว เป็นผู้ให้คำปรึกษาครอบครัวเด็ก ให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กวิธีการเลี้ยงดู สร้างความรู้สึกที่ดีในการเลี้ยงดูลูกพ่อแม่ จะช่วยให้ครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความมั่นคงและเป็นหลักให้กับสังคม ตลอดไป สรุปและข้อเสนอแนะ กุมารแพทย์โรงพยาบาลทั่วไป ควรได้ใช้ความรู้ความสามารถทางวิชาร ประยุกต์ผ่านเครือข่ายการบริการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพี่เลี้ยงให้แก่แพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่มัก๗ะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดพัฒนาการล่าช้า จะช่วยให้ช่วยกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ จัดทำคู่มือการตรวจวินิจฉัยประเมินและวางแผนการรักษาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า รวมทั้งช่วยวางระบบหลักเกณฑ์การส่งต่อ เพื่อให้เด็กทุกคนในจังหวัดมีโอกาสได้รับการส่งเสริมพัฒนาการและการดูแลที่เหมาะสมเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของพื้นที่ ผลที่คาดว่าจะได้รับ เด็กทุกรายในจังหวัดลำพูนได้รับการส่งเสริมพัฒนาการและสามารถเติบโตได้เต็มที่ตามศักยภาพของตน กิตติกรรมประกาศ ขอขอบคุณ - นายแพทย์ประดิษฐ์ วินิจจะกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูน - นายแพทย์วิวัฒน์ เชวงชัยยง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำพูน - นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ ที่ให้คำปรึกษาสนับสนุนและผู้ร่วมมือทีมทุกท่าน

Keywords: เด็ก, พัฒนาการเด็ก, พัฒนาการ, กุมารแพทย์, จิตเวชเด็ก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงพยาบาลลำพูน

Code: 20050000222

ISSN/ISBN: 974-293 -677-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -