ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุบลรัตน์ ฆวีวงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: กรณีศึกษา : ผลของการให้คำปรึกษาครอบครัวต่อสัมพันธภาพภายในครอบครัวของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่มาจากครอบครัวหย่าร้าง โรงเรียนนิคมวิทยา จังหวัดระยอง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 6 วันที่ 6-8 กันยายน 2543

รายละเอียด / Details:

สัมพันธภาพภายในครอบครัวปัจจุบัน ขาดความเข้าใจกัน ขาดความรักความอบอุ่น เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน มีการทะเลาะวิวาท มีปัญหาครอบครัวหย่าร้างเพิ่มขึ้น อีกทั้งสภาพความกดดันทางเศรษฐกิจและความทันสมัยทำให้ครอบครัวไทยเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่ส่งผลให้ความผูกพันในครอบครัวลดลง สภาพที่บิดา มารดาต้องทำงานนอกบ้าน ทิ้งให้บุตรอยู่กับ ปู่ ยา ตา ยาย คนแก่และหลานมีช่องว่างระหว่างวัย ไม่สามารถเข้าใจความต้องการของกันและกัน บิดามารดาที่หย่าร้างกันหรือทะเลาะกันทุกวันจนลูกไม่อยากอยู่บ้าน เกิดความเบื่อหน่าย อยากหนีสังคมและไม่อยากไปโรงเรียนเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดผลเสียของการขาดบิดามารดาและปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัวที่อาจมีแนวโน้มไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตของเยาวชนได้ การวิจัยครั้งนี้มีจุดหมายเพื่อศึกษาผลของการให้คำปรึกษาครอบครัวต่อสัมพันธภาพภายในครอบครัวของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มาจากครอบครัวหย่าร้าง โรงเรียนนิคมวิทยา จังหวัดระยอง โดยใช้วิธีการศึกษาเป็นรายกรณีร่วมกับการให้คำปรึกษาครอบครัว กรณีศึกษามาจากประชากร โดยใช้แบบสำรวจพฤติกรรมเด็กฉบับสำหรับผู้ปกครองของศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คัดเลือกนักเรียนที่มีปัญหาอยู่ในระดับปานกลางและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายได้กรณีศึกษาจำนวน 2 คน การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 ใช้เครื่องมือและเทคนิคการศึกษาเป็นรายกรณี เช่น การเยี่ยมบ้าน อัตชีวประวัติ บันทึกประจำวัน การทำสังคมมิติในห้องเรียน ฯลฯ ในการทำความรู้จักและเข้าใจกรณีศึกษาอย่างแท้จริง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ระยะที่ 2 สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสัมพันธภาพในครอบครัวของนักเรียน โดยใช้แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสัมพันธภาพในครอบครัวภายหลังการหย่าร้างของพ่อแม่ที่ผู้วิจัยปรับปรุงจาก อัญชลี ศิลาเกษ และคณะ (2539) แล้วจึงทดลองใช้วิธีการให้คำปรึกษาครอบครัวตามโปรแกรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นกับนักเรียนและผู้ปกครอง เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ระยะที่ 3 ระยะยุติการให้คำปรึกษา ใช้เวลา 6 สัปดาห์ แล้วดำเนินการสอบถามสัมพันธภาพในครอบครัวด้วยแบบสอบถามชุดเดิม ระยะที่ 4 เว้นช่วงระยะเวลาไปประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะติดตามผล ผู้วิจัยใช้แบบสำรวจพฤติกรรมเด็กฉบับสำหรับผู้ปกครอง สำรวจพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของกรณีศึกษาอีกครั้ง ผลการวิจัยครั้งนี้ ปรากฎว่านักเรียนที่ได้รับการให้คำปรึกษาครอบครัวมีสัมพันธภาพภายในครอบครัวดีขึ้น และแสดงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาลดลง

Keywords: การให้คำปรึกษา, ปรึกษา, ครอบครัว, หย่าร้าง, นักเรียน, ปัญหาครอบครัว, family, divorce, mental health, counseling

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: โรงเรียนนิคมวิทยา จังหวัดระยอง

Code: 20050000228

ISSN/ISBN: 974-293-644-7

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -