ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทวี ตั้งเสรี, กนกวรรณ กิตติวัฒนากูล, ทัศนีย์ กุลจนะพงศ์พันธ์, วัชนี หัตถพนม, วราภรณ์ รัตนวิศิษฐ์ ไพลิน ปรัชญคุปต์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 18, (เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วไทยเฝ้าระวังภัยทั่วประเทศ) พฤษภาคม 25-27, 2548 ณ. Miracle Grand Hotel, Bangkok, Thailand, หน้า 64-65

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ามีจำนวนมากขึ้น หากได้รับการคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เมือ่เกินความสามารถก็พิจารณาส่งต่อไปยังหน่วยงานในระดับสูงกว่าได้ การศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการพัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในโครงการการป้องกันและช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ใช้ประเมินกลุ่มเสี่ยง และเป็นเครื่องมือที่ง่ายและสะดวกในการนำไปปฏิบัติ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ระยะๆ ที่ 1 ศึกษาความตรงตามเนื้อหาโดยการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 17 คน (จิตแพทย์ 7 คน พยาบาลจิตเวช 10 คน) 2 ครั้ง พัฒนาแบบคัดกรองฉบับร่างและนำไปทดสอบภาษาที่ใช้โดยการทำ focus group 10 กลุ่ม จาก 5 ภาคของประเทศ และประชุมผู้ทรงคุณวุฒิอีก 1 ครั้ง เพื่อปรับปรุงเครื่องมือภายหลังการทำ focus group ระยะที่ 2 เป็นการวิเคราะห์คำถาม การศึกษาอำนาจจำแนก การวิเคราะห์ปัจจัย และการศึกษาความตรงตามสภาพโดยเก็บข้อมูลจากู้มารับบริการ ที่ตึกผู้ป่วยนอกจำนวน 131 คน กลุ่มตัวอย่างแต่ละคน จะถูกสัมภาษณ์ด้วยแบบคัดกรองภาวะซึมเศร้า 15 ข้อ และเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคว่ามี ภาวะซึมเศร้าหรือไม่ โดยจิตแพทย์ใช้ MINI ฉบับภาษาไทยช่วยในการวินิจฉัยโรค ระยะที่ 3 การหาค่าความสอดคล้องในการวินิจฉัยโรคของจิตแพทย์ 2 ท่าน แพทย์แต่ละท่านไม่ทราบประวัติเก่าของผู้ป่วย ระยะที่ 4 การศึกษาความถูกต้องของเครื่องมือโดยการเก็บข้อมุลจากประชาชนที่อยู่อาศัย ณ ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 715 คน กลุ่มตัวอย่าง แต่ละคนจะถูกสัมภาษณ์ด้วยแบบคัดกรองก่อนพบจิตแพทย์ ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล พฤษภาคม 2546-มิถุนายน 2546 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย ความไว ความจำเพาะ ค่าการทำนายผลบวก ค่าการทำนายผลลบ ความถูกต้องของการทดสอบ ความชุกของโรค 1).แบบคัดกรองมี 3 องค์ประกอบ คือ 1. mood component 2. cognitive behavior component 3. somatic component มีคำถาม 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือ (cronbach's alpha coefficient) 0.88 มีอำนาจจำแนกระหว่างคนปกติ และผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ p‹0.001 และ ค่า cut off point ที่ใช้ในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเพื่อเข้าพบแพทย์ในการศึกษาในชุมชน คือ 5 คะแนนขึ้นไป 2.) ความสอดคล้องในการวินิจฉัยโรคตรงกันของจิตแพทย์ 2 ท่าน มีค่า kappa statistic=0.839 (p<0.00) 3.) เมื่อนำไปใช้ในชุมชน cut off point ที่เหมาะสมแบบคัดกรองฉบับนี้คือ 6 คะแนนขึ้นไป (5/6) โดยมีค่าความไวร้อยละ 86.8 ความจำเพาะร้อยละ 79.8 คุณค่าการทำนายผลบวกร้อยละ 38.5 คุณค่าการทำนายผลลบร้อยละ 97.7 ความถูกต้องของการทดสอบร้อยละ 80.7 ความชุกของภาวะซึมเศร้าร้อยละ 12.7 สรุป ได้เครื่องมือในการคัดกรองที่ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งสะดวกและง่ายต่อการนำไปใช้ในชุมชนจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการคัดกรองบุคคลที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถให้การช่วยเหลือเบื้องต้นตั้งแต่ในชุมชน ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับบริการได้

Keywords: แบบคัดกรอง, ภาวะซึมเศร้า, การวินิจฉัยโรค, เสี่ยง, กลุ่มเสี่ยง, ฆ่าตัวตาย, ความเชื่อมั่น, ความถูกต้อง, ทดสอบ, ความชุก, screening test, depression, ซึมเศร้า, เครื่องมือ, test validity, study, depress, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 2005000023

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -