ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปริทรรศ ศิลปกิจ, วนิดา พุ่มไพศาลชัย, ภาวดี การเร็ว (กิตติคุณ), พะยอม เพชรบูรณิร, สิวลี จารุวรรณ, เทวารัฐ จึงธนะภัทร

ชื่อเรื่อง/Title: โปรแกรมจัดการความเครียดในที่ทำงาน

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 5, พ.ศ. 2542

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโปรแกรมจัดการกับความเครียดที่เหมาะสมกับผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานประกอบการต่าง ๆ และเพื่อทดสอบคุณภาพของเครื่องมือที่พัฒนาได้ ขั้นตอนการวิจัย 1. พัฒนาโปรแกรมจัดการกับความเครียดในที่ทำงานในลักษณะของการอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยจะเน้นให้เกิดการจัดการความเครียดอย่างเป็นระบบ ซึ่งประกอบด้วยแนวทางหลัก ๆ คือ ก) แนวทางจัดการกับความเครียด ได้แก่ การมุ่งจัดการกับปัญหาที่ทำให้เครียดและการมุ่งจัดการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเครียดให้น้อยลง และ ข) แนวทางการดูแลตนเองเพื่อรับมือกับความเครียด ได้แก่ การดูแลด้านสุขภาพ ดูแลด้านอารมณ์และทางด้านจิตใจ เพื่อให้บุคคลมีความทนทานต่อความเครียดมากขึ้น และสามารถปรับตัวรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น 2. กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถานประกอบการขององค์การเอกชนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 90 คน ซึ่งได้จากการประกาศรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าอบรม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทดลองจำนวน 42 คน และกลุ่มควบคุม 48 คน โดยแบ่งตามความสมัครใจของกลุ่มตัวอย่างว่าพร้อมจะอบรมรุ่นใหน 3. กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มจะต้องผ่านการวัดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อด้วยเครื่อง Electromyograph และต้องตอบแบบสอบถามความเครียดสวนปรุง กลุ่มทดลองจะได้รับการอบรมตามโปรแกรมที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมาก่อน หลังจากนั้นอีก 3 เดือน ทำการประเมินความตึงเครียดของทั้งสองกลุ่มอีกครั้งก่อนที่จะจัดอบรมให้กลุ่มควบคุม เปรียบเทียบคะแนนความเครียดที่ได้จากการวัดครั้งแรกและครั้งที่สองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติ paired test ผลที่ได้ ก่อนการทดลองกลุ่มตัวอย่างทั้งสองไม่มีความแตกต่างกันในด้านของลักษณะทั่วไป คะแนนความเครียดและค่า EMG biofeedback (p‹0.05) เมื่อเปรียบเทียบคะแนนที่ได้จากการประเมินความเครียดทั้งสองครั้งนั้น กลุ่มทดลองมีค่า EMG ภายหลังการอบรมต่ำกว่าค่าที่วัดได้ในครั้งแรกก่อนการอบรม ส่วนคะแนนความเครียดจากอาการในระบบต่าง ๆ ตามแบบวัดความเครียดสวนปรุงนั้น พบว่ากลุ่มทดลองมีคะแนนความเครียดทางระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเธติค ทางอารมณ์ และทางระบบภูมิคุ้มกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราการคิดฆ่าตัวตายของกลุ่มทดลองลดลงได้เกือบ 4 เท่า คือลดจาก 16 % เหลือเพียง 4.8 % และลดความคิดฆ่าผู้อื่นลงได้ 1 ใน 3 จาก 11.9 % ลดลงเป็น 7.1 % ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากการวัดความเครียดและอัตราความคิดฆ่าตัวตายที่ประเมินได้ในครั้งแรกและครั้งที่ 2 (p<0.05) สรุปและข้อเสนอแนะ เห็นได้ว่าโปรแกรมจัดการกับความเครียดในที่ทำงานนี้สามารถลดความเครียดชนิด episodic acute และ chronic stress ลงได้บางส่วน ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากเป็นการประเมินผลในระยะแรก ๆ ของการอบรมและอาการเครียดอื่น ๆ อาจจะต้องใช้เวลานานมากกว่านี้ถึงจะเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม โปรแกรมนี้จะเป็นประโยชน์ถ้านำมาใช้จัดการกับความเครียดในที่ทำงาน ในอนาคตควรพัฒนาโปรแกรมให้มีรูปแบบที่นำไปใช้ได้ง่ายขึ้น และประชาชนทั่วไปสามารถนำไปใช้จัดการกับความเครียดได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องอาศัยการฝึกอบรม นอกจากนี้ยังเชื่อว่าผลที่ได้จากการวิจัยในครั้งนี้สามารถนำไปใช้ศึกษาแนวทางลดความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ในโอกาสต่อไป

Keywords: โปรแกรมจัดการความเครียดในที่ทำงาน, ความเครียด, เครียด, จิตวิทยา, phychology, stress

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20050000235

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -