ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิสภา แก้วปลี

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้เสพยาเสพติด: กรณีศึกษาผู้เสพยาเสพติดในเขตเทศบาลนคร นครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 18, (เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วไทยเฝ้าระวังภัยทั่วประเทศ) พฤษภาคม 25-27, 2548 ณ. Miracle Grand Hotel, Bangkok, Thailand, หน้า 72-73.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ตามนโยบายของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2546 ได้ประกาศสงคราม กับยาเสพติดขั้นแตกหักและให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกมารายงานตัวนั้น ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีผู้ออกมารายงานตัวที่เป็นผู้เสพยาเสพติดจำนวน 106 คน จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาผู้เสพยาเสพติดเหล่านั้นโดยเฉพาะพฤติกรรมและปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้เสพยาเสพติด วัตถุประสงค์ เพื่อทราบปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเสพยาของผู้เสพยาเสพติด และแนวคิดรวมทั้งพฤติกรรมของกลุ่มผู้เสพยาเสพติดในเขต เทศบาลนครนครราชสีมา วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ (Descriptive Reserch and Qualitative Reserch) โดยประชากรที่ใช้ศึกษาเชิงปริมาณเป็นผู้เสพยาเสพติดในเขต เทศบาลนครนครราชสีมาที่ออกมารายงานตัวในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม 2546 ทั้งหมดในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน 106 คน โดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นวิเคราะห์ตัวแปรข้อมูลทางด้าน ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลครอบครัว สิ่งแวดล้อม และข้อมูลการใช้ยาเสพติด และสถิติเชิงพรรณนา โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Epi-info เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยวิธีสนทนากลุ่ม (Focus group interview) กับกลุ่มผู้เสพยาจำนวน 2 กลุ่ม และทำการวิเคราะห์โดยการตีความ(Interpretation) ผลการศึกษา กลุ่มเสพยาเสพติด ส่วนใหญ่มีอายุ 21 ปี อายุโดยเฉลี่ย 23 ปี เป็นเพศชาย ร้อยละ 87.7 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาร้อยละ 56.6 สถานภาพโสดร้อยละ 67.9 อาชีพ รับจ้างร้อยละ 72.6 รายได้ต่อเดือน 3,000-6,000บาท ร้อยละ 46.2 ด้านครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้ยาเสพติดอาศัยอยู่กับบิดามารดา ร้อยละ 36.8 บิดามารดาส่วนใหญ่ มีอาชีพรับจ้าง มีรายได้ 3,000-6,000 บาท ร้อยละ 54.7 สภาพสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนที่มีการขาย เสพยาเสพติดร้อยละ 43.4 บุคคลที่ผู้เสพพึ่งพาอาศัยและเคารพนับถือเป็นบิดาและมารดา ร้อยละ 36.8 การใช้ยาเสพติด ส่วนใหญ่เริ่มใช้ยาเสพติดอายุ 18 ปี ชนิดของยาเสพติดเป็นยาบ้าร้อยละ 90.6 และมักเสพโดยการสูบร้อยละ 68.9 ปริมาณการใช้ยา 1-2 เม็ดต่อวันร้อยละ 53.8 และระยะเวลาใช้ยา 1-2 ปี ร้อยละ 41.5 สาเหตุที่ใช้ยาเสพติดส่วนใหญ่จากเพื่อนชวนร้อยละ 49.1 มักใช้ยาเสพติดร่วมกับบุหรี่ร้อยละ 56.6 สาเหตุที่ต้องการเลิกยาและออกมารายงานตัวครั้งนี้ เพราะกลัวถูกลงโทษร้อยละ 68.9 ผู้เสพมีคดียาเสพติด 1 ครั้ง ร้อยละ 51.9 และผลการตรวจปัสสาวะไม่พบสารเสพติดร้อยละ 91.5 เนื่องจากส่วนใหญ่หยุดเสพแล้ว จากการสนทนากลุ่ม พบว่าผู้เสพยาเสพติดมีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยกขาดความอบอุ่นและไม่มีสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว สาเหตุที่ใช้ยาเสพติดมักจะตามเพื่อน และมีปัจจัยที่เอื้อโดยต้องหาเลี้ยงชีพเอง ตั้งแต่เด็กและประกอบอาชีพใช้แรงงานที่จำเป็นต้องใช้ยากระตุ้น แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มสนทนาส่วนใหญ่ยังเห็นว่าตนเองมีคุณค่า มีความหวังมีเป้าหมายในชีวิตชัดเจน อยากเลิกเสพยาและเป็นที่ยอมรับในสังคม สรุป ผลการศึกษาพฤติกรรมของผู้เสพยเสพติดทำให้ทราบปัจจัยที่เอื้อต่อการเสพยา สามารถนำไปใช้ในการวางแผนงานในการป้องกันการเสพยาและบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด ควรศึกษาต่อเนื่องถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องของผู้เสพยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดรักษาและกลับมาใช้ยาเสพติดซ้ำอีก

Keywords: ผู้เสพยาเสพติด, substance use, พฤติกรรม, behavior, ยาเสพติด, สารเสพติด, บำบัดรักษา, ระบาดวิทยา, ผู้เสพ, คดียาเสพติด, ตรวจปัสสาวะ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนคร นครราชสีมา

Code: 2005000024

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -