ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กลุ่มงานระบาดวิทยาสุขภาพจิต กองสุขภาพจิตสังคม

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะสุขภาพจิตของลูกจ้างในสถานประกอบการในประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 170.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ‹br>ในช่วงระยะ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์ ความเครียดซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ความเครียดซึ่งเป็นมูลเหตุที่สำคัญที่จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง เช่น การติดสุรา ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย เป็นต้น จากรายงานผู้ประกันตนปี 2546 มีผู้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน ร้อยละ 2.83 ซึ่งคิดเป็นเงินทดแทนมูลค่ากว่า 1,480 ล้านบาท การศึกษาที่ผ่านมาพบการเกิดอุบัติเหตุและการขาดงาน มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิตของลูกจ้าง ดังนั้น กรมสุขภาพจิตจึงได้มีการสำรวจภาวะสุขภาพจิตของลูกจ้างในสถานประกอบการ เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนางานการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพจิตในสถานประกอบการ
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาความชุกของความเครียด ภาวะซึมเศร้า (Major depressive episode Dysthymia และ Adjustment disorders) การฆ่าตัวตาย และ Alcohol use disorder ของลูกจ้างในสถานประกอบการ
ระเบียบวิธีวิจัย
เป็นการศึกษาแบบ Cross–sectional Descriptive study กลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,552 คน ที่ทำงานในสถานประกอบการใน 12 เขตสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้จากการสุ่มแบบ self-weight sampling โดยใช้แบบวัดความเครียด (SPST-20) แบบวัดภาวะซึมเศร้า แบบวัดการทำร้ายตนเอง (M.I.N.I.) และแบบประเมิน AUDIT เก็บข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2547 หาค่าความชุกโดยใช้ร้อยละ ซึ่งปรับถ่วงค่าน้ำหนักตามเพศของลูกจ้างในสถานประกอบการ และค่ามัธยฐาน
ผลการศึกษา
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เพศหญิง ร้อยละ 53.7 เพศชาย ร้อยละ 46.3 อายุเฉลี่ย 29 ปี (median) ช่วงอายุน้อยกว่า 30 ปี ร้อยละ 52.4 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 98.8 แรงงานมีหนี้สินถึงร้อยละ 67.8 ส่วนใหญ่ทำงานในช่วงกลางวัน ร้อยละ 58.0 ทำงานเป็นกะ ร้อยละ 41.6 ลูกจ้างมีความเครียดระดับสูงและรุนแรง ร้อยละ 23.9 (เพศหญิง ร้อยละ 24.3 เพศชาย ร้อยละ 23.3) ภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 32.8(เพศหญิง ร้อยละ 35.5 เพศชาย ร้อยละ 29.5) การทำร้ายตนเอง ร้อยละ 1.83 (เพศหญิง ร้อยละ 1.8 เพศชาย ร้อยละ 1.8) และ Alcohol use disorder ร้อยละ 26.9 (เพศหญิง ร้อยละ 9.6 เพศชาย ร้อยละ 48.1)
ข้อเสนอแนะ
ความชุกของความเครียดสูงและรุนแรง ภาวะซึมเศร้า และ Alcohol use disorder ในลูกจ้างพบว่ามีอัตราสูง ดังนั้นควรมีนโยบายเรื่องสุขภาพจิต และมาตรการในการจัดการความเครียดในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง.

Keywords: ความชุก, ระบาดวิทยา, ซึมเศร้า, การฆ่าตัวตาย, สุขภาพจิต, ความเครียด, พฤติกรรม, ภาวะเครียด, ติดสุรา, ภาวะซึมเศร้า, ปัญหาสุขภาพจิต, ลูกจ้าง, สถานประกอบการ,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000244

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -