ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เบญจพร ปัญญายง และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะซึมเศร้าในเด็กพิการทางการมองเห็น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 165.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ‹br>ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2539 พบว่า 1 ใน 7 ของผู้พิการทั้งหมดในประเทศไทย คือ ผู้พิการทางการมองเห็น ผู้พิการเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐในด้านต่างๆ รวมถึงการยอมรับจากสังคม จากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องสุขภาพกายและจิตใจของผู้พิการทางการมองเห็นค่อนข้างน้อย ดังนั้น เพื่อการวางแผนการดำเนินการจัดบริการที่เหมาะสม สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของคนพิการ จึงได้ทำการศึกษาในเด็กพิการด้านการมองเห็นขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาภาวะซึมเศร้าในเด็กพิการด้านการมองเห็น
2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้ากับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
ขอบเขตการวิจัย
เด็กที่มีความพิการทางการมองเห็นอายุ 12-17 ปี ของโรงเรียนสอนคนตาบอดและที่เรียนในโรงเรียนร่วม ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา) และกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 215 คน ที่สามารถอ่านอักษรเบลล์ได้
ระเบียบวิธีการวิจัย
เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ประชากรที่ศึกษา คือ เด็กที่มีความพิการทางการมองเห็นอายุ 12-17 ปี จำนวนทั้งสิ้น 215 คน ที่สามารถอ่านอักษรเบลล์ได้ จากการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ตัวแปรตามคือ ภาวะซึมเศร้า และความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้ากับปัจจัยที่เกี่ยวข้องของเด็กพิการทางการมองเห็น
เครื่องมือที่ใช้
เป็นแบบสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป 24 ข้อและแบบวัดภาวะซึมเศร้า (Children’s Depression Inventory) (CDI) ของ Maria Kovacs เป็นแบบสำรวจด้วยตนเอง 27 ข้อ เก็บข้อมูลโดยครูเป็นผู้สัมภาษณ์ ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม SPSS PC โดยใช้ค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความสัมพันธ์ one-way ANOVA
สรุปผลการวิจัย
เด็กพิการทางการมองเห็นมีอายุเฉลี่ย 14.5 ปี ประมาณสี่ในห้า (ร้อยละ 81.4) เป็นความพิการแต่กำเนิด มีสมาชิกพิการร้อยละ 32.6 เด็กมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 22.2 หญิงมากกว่าชาย ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า คือ พ่อแม่ติดสุราหรือยาเสพติด สมาชิกในครอบครัวทำผิดกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ความกดดันในครอบครัวและเพศ โดยมีเด็กคิดอยากตาย ร้อยละ 5.6
ข้อเสนอแนะ
หนึ่งในสี่ของเด็กพิการทางการมองเห็น ต้องรับการคำปรึกษาจากบุคลากร กรมสุขภาพจิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาปัญหาสุขภาพจิตในคนพิการประเภทอื่นด้วย.

Keywords: ภาวะซึมเศร้า, ผู้พิการ, ซึมเศร้า, ตาบอด, พิการทางการมองเห็น, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กองสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000248

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -