ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทวี ตั้งเสรี, วัชนี หัตถพนม, ละเอียด ปัญโญใหญ่ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัยไข้หวัดนกในเขต 6

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 18, (เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วไทยเฝ้าระวังภัยทั่วประเทศ) พฤษภาคม 25-27, 2548 ณ. Miracle Grand Hotel, Bangkok, Thailand, หน้า 66-67

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล จากสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีการแพร่ระบาดไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างรวดเร็ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าวเช่นกัน โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จึงมีหน้าที่ในการช่วยบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัยจากไข้หวัดนก เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตที่อาจเกิดขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษผลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบภัยไข้หวัดนกในเขต 6 วิธีการศึกษา ดำเนินการจัดทีมสุขภาพจิตออกหน่วยให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยไข้หวัดนก ใน 3 จังหวัด จำนวน 361 คน โดยดำเนินการ 2 ระยะ ระยะที่ 1 ขณะประสบภาวะวิกฤต ระยะที่ 2 หลังจากประสบภาวะวิกฤต ติดตามฟื้นฟูสภาพสภาพจิตใจ โดยติดตาม ตามเกณฑ์การเฝ้าระวังในกลุ่มที่มีคะแนนแบบวัดภาวะซึมเศร้า ตั้งแต่ 6 คะแนนขึ้นไป และโรคทางจิตเวชที่แพทย์ลงความเห็นว่า ควรเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ติดตามเฝ้าระวังภายหลังประสบภัย 1, 3 เดือน และ 6 เดือน จากนั้นยุติการเฝ้าระวังและส่งต่อให้พื้นที่ดูแล เครื่องมือที่ใช้ในโครงการ ได้แก่ แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อให้พื้นที่ดูแล เครื่องมือที่ใช้ในโครงการ ได้แก่ แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย แบบสอบถามผู้ประสบภัยไข้หวัดนก เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2547 การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงบรรยาย ผลการศึกษา ผู้ประสบภัยไข้หวัดนกเป็นเพศหญิง 65.9% ชาย 34.1% ได้รับความสูญเสียจากการสูญเสียไก่ 90.9% ค่าความเสียหายอยู่ในช่วง 1-2,000 บท 41.3% (ต่ำสุดไม่สูญเสีย สูงสุด 2 ล้านบาท) มีคะแนนภาวะซึมเศร้า 6 คะแนนขึ้นไป 18.8% เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 9.7% แพทย์วินิจฉัยโรคว่าเป็น Anxiety disorder 41.3% Adjustment disorder 12.7% แพทย์ให้การรักษาด้วยยาทางกายและทางจิต รวมกัน 55.7% ได้รับการปรึกษาและคลายเครียด 5.8% หลังประสบภัย 1 เดือน ได้จัดทีมสุขภาพจิตดูแลต่อเนื่องในพื้นที่เดิม ตามเกณฑ์การเฝ้าระวัง มีผู้มาตามนัด 209 คน มีคะแนน ภาวะซึมเศร้า 6 คะแนนขึ้นไป 14.4% เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 4.3% บริการรักษาด้วยยาทางกายและทางจิตรวมกัน 55.0% ให้การปรึกษาและคลายเครียด 5.3% ส่งพื้นที่ดูแลต่อเนื่อง 11 คน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อไปรับยาโรงพยาบาลใกล้บ้าน ด้วยโรค Depression 1 คน ที่เหลือยังดำรงชีวิตได้ในชุมชนตามปกติ ติดตามเฝ้าระวัง 6 เดือน พบว่าผู้ประสบภัยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ สรุปได้รูปแบบการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไข้หวัดนก ซึ่งจะประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตในชุมชน จึงต้องมีการพัฒนาความรู้ และทักษะในการดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพจิตให้แก่เครือข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ หรือบุคคลอื่นๆ ที่ประสบกับภาวะวิกฤตในชุมชน

Keywords: ไข้หวัดนก, ฟื้นฟูสภาพจิตใจ, avian influenza, mental health rehabilitation, สุขภาพจิต, จิตวิทยา, สุขภาพจิตชุมชน, เครือข่าย, ฟื้นฟู, ภาวะวิกฤต, ภาวะซึมเศร้า, เครียด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 2005000025

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -