ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กาญจนา สุทธิเนียม และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความชุกของการใช้สารเสพติดในผู้ป่วยโรคจิตที่เข้ารับการรักษา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 161.

รายละเอียด / Details:

ปัญหาการใช้สารเสพติดในผู้ป่วยโรคจิตเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ และอุบัติการณ์การใช้สารเสพติดในประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 16 นั้น ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตนั้น จะมีความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดสูงกว่าประชากรทั่วไป โดยพบได้ถึงร้อยละ 29 และจากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยโรคจิตที่ใช้สารเสพติดร่วมด้วยจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆในการดูแลมากมาย เช่น การที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทดื่มสุรา ทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น พฤติกรรมรุนแรง อาการซึมเศร้ารุนแรงขึ้นไม่ร่วมมือในการรับประทานยาที่แพทย์ใช้ในการรักษา อาการกำเริบจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยครั้ง มีปัญหาทางด้านสุขภาพกาย รวมถึงปัญหาด้านค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ดังนั้นการศึกษาความชุกของการใช้สารเสพติดของผู้ป่วยโรคจิตที่เข้ารับการรักษาในสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เป็นการบอกถึงแนวโน้มปัญหาของผู้ป่วยโรคจิตที่ใช้สารเสพติดในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยการศึกษาแบบ Retrospective โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยในของสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 316 ราย ที่รับไว้ในสถาบันฯ ในเดือนธันวาคม 2546 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกประวัติผู้ป่วยในเวชระเบียน ‹br>ผลการศึกษา
พบว่าผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 57.4 อายุเฉลี่ย 38 ปี ส่วนมากสถานภาพโสดร้อยละ 55.2 การศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 30.9 ว่างงานร้อยละ 46.1 ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพร้อยละ 64.4 มีประวัติการใช้สารเสพติดถึงร้อยละ 46.7 และกลุ่มโรคที่มีประวัติใช้สารเสพติสูง ได้แก่ โรคจิตเภทซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติด้านกระบวนความคิด การรับรู้ สารเสพติดที่ใช้มาก 3 ลำดับแรกได้แก่ สุรา ยาบ้า และกาว และเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายและจำนวนวันนอนของผู้ป่วยที่มีประวัติใช้และไม่ใช้สารเสพติดพบว่าไม่แตกต่างกันที่ระดับ .05 แต่พบว่าจำนวนครั้งการกลับมารักษาซ้ำใน 1 ปี แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้สารเสพติดจะกลับมารักษาซ้ำสูงกว่า
จากผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบในการวางแผนในการปรับปรุงคุณภาพ ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิตที่ใช้สารเสพติดร่วม โดยมีข้อเสนอแนะคือควรให้ความสำคัญในการซักประวัติการใช้สารเสพติดที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นในผู้ป่วยโรคจิต และควรนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตที่ใช้สารเสพติดร่วม เช่น มีโปรแกรมบำบัดเฉพาะเพื่อเป็นการป้องกันการกลับป่วยซ้ำ

Keywords: ผู้ป่วยโรคจิต, จิตเวช, สารเสพติด, ยาเสพติตถ, ความชุก, ระบาดวิทยา, โรคจิตเภท, ปัญหาทางสุขภาพจิต, การใช้สารเสพติด, ผู้ป่วยจิตเวช, เวชระเบียน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต

Code: 20050000250

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -