ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รศ. นพ. มานิต ศรีสุรภานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยเสี่ยงของโรคจิตเภท : การทบทวนวรรณกรรมทางระบาดวิทยา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 158

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ‹br>โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคเรื้อรังทางจิตเวช ทำให้มีผลกระทบมากทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน จากการศึกษาภาระโรคในประเทศไทยปี 2542 พบว่าโรคจิตเภทก่อให้เกิดการสูญเสียปีสุขภาวะก่อนวัยอันควรร้อยละ 2 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ 20 อันดับแรกของการสูญเสียทั้งหมดในประเทศไทย และเป็นสาเหตุสำคัญ 3 อันดับแรกของการสูญเสียของโรคจิตเวช และผลการสำรวจทางระบาดวิทยาสุขภาพจิต ปี 2546 พบความชุกของโรคจิตเภทเท่ากับร้อยละ 0.59 ของประชากรไทย เพื่อลดภาระและความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งด้านสังคมและทรัพยากร กรมสุขภาพจิตเห็นความสำคัญของสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้รวบรวมข้อมูลและศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคจิตเภท เพื่อนำมาคำนวณหาภาระโรค จากปัจจัยเสี่ยงและใช้เป็นแนวทางในการป้องกันและดูแลรักษาผู้ป่วยและประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงและภาระโรคของโรคจิตเภท
วิธีการดำเนินการวิจัย
เป็นการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของโรคจิตเภท จากงานวิจัยที่เป็น meta-analysis เป็นหลักร่วมกับงานวิจัยประเภท Cohort study, case control study Review Iiterature โดยการสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็คทรอนิกส์จาก Medline (Pubmed) และฐานข้อมูลไทยจาก Thai Index Medicus ของห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฐานข้อมูลวิจัยของโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ โดยศึกษาตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปีปัจจุบัน และนำงานวิจัยมาประเมิน เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับโรคจิตเภท โดยศึกษาค่าความเสี่ยงสัมพันธ์ (Relative risk; RR หรือ Odd ratio; OR)
ผลการวิจัย
พบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภท 3 อันดับแรก ได้แก่ พันธุกรรม (Geneties) ผู้ที่มีมารดา บิดา พี่น้อง และบิดามารดา ป่วยเป็นโรคจิตเภท มีค่าความเสี่ยงที่จะเกิดโรค 9.31 (RR; 95% CI=7.24-11.96), 7.20 (RR; 95% CI=5.10-10.16), 6.99 (RR; 95% CI=5.38-9.09) และ 46.9 (RR, 95% CI= 17.56-125.26) ตามลำดับ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ และการคลอด (Gestation and Obstetric complications) พบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ มารดาป่วยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และการคลอดลูกมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคจิตเภท 7.76 (OR, 95% CI=1.37-43.90) ผู้ที่มีปัญหาภาระรกลอกตัวก่อนกำหนด ลูกมีโอกาสป่วย 4.02 (OR, 95% = 0.89-18.12 CI) ผู้ที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2,000 กรัม มีความเสี่ยง 3.89 (OR, 95% CI=1.40-10.84) ผู้ที่คลอดด้วยวิธี Emergency cesarean section มีความเสี่ยง 3.24 (OR, 95% CI= 1.4-7.5) และการใช้กัญชา (Cannabis used) ผู้ที่มีประวัติการใช้กัญชามีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคจิตเภท 2.34 (OR, 95% CI= 1.69-2.95)

Keywords: โรคจิตเภท, โรคจิต, จิตเวช, ระบาดวิทยา, ความชุก, ระบาดวิทยาสุขภาพจิต, schizophrenia, schizo, psychosis, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Code: 20050000252

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -