ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: น.พ.บุญชัย นวมงคลวัฒนา

ชื่อเรื่อง/Title: ห้องปฏิบัติการชุมชนสุขภาพจิต : ระยะที่ 1

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 153-154.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ‹br>การมุ่งหวังให้ประชาชนมีความตระหนักและสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชน โดยมีกลไกที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน คือ ต้นทุนทางสังคม ซึ่งได้แก่ ความเข้มแข็ง ภูมิปัญญา ความสามารถของคนในชุมชน เป็นต้น ดังนั้น เพื่อมุ่งสู่การมีสุขภาพจิตดีของคนในชุมชน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จึงได้นำต้นทุนทางสังคมมาเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างชุมชนสุขภาพจิตดี โดยจำลองชุมชนเปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการ (Community Laboratory for Mental Health: Com-Lab) ในการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนแบบบูรณาการ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพต่อคนในชุมชนมากที่สุด
วัตถุประสงค์
เพื่อให้เกิดชุมชนสุขภาพจิตดี ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้
วิธีการ เป็นการดำเนินการนำร่องในชุมชนที่มีความพร้อมโดยมีการสำรวจบริบทเพื่อหาต้นทุนทางสังคมของชุมชน และใช้กระบวนการมีส่วนร่วมคัดเลือกพื้นที่ชุมชนเป็นห้องปฏิบัติการและแกนนำชุมชนเป็นนักวิจัย และพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในการหารูปแบบการเสริมสร้างสุขภาพจิต การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ระยะที่ 1 การวางแผนและดำเนินงาน ระยะที่ 2 การติดตามประเมินผล ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2546-30 กันยายน 2547
ผลการดำเนินงาน
ในการดำเนินงานระยะที่ 1: ผลที่เกิดขึ้นในชุมชนคือ มี 2 ชุมชนห้องปฏิบัติการคือ บ้านท่าลาด จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชุมชนที่ผ่านการพัฒนาจากภาครัฐหลายๆ ด้าน และบ้านโคกป่าจิก จังหวัดยโสธร เป็นชุมชนที่ผ่านการพัฒนาจากภาครัฐเล็กน้อย มีนักวิจัยชุมชนละ 15 คน และประชาชนเข้าร่วมเป็นทีมงานจำนวน 50 คน และ 93 คน ตามลำดับ นักวิจัย Com-Lab. ทั้ง 2 แห่ง ได้ประชุมทีมงานระดมสมอง กำหนดโครงการเพื่อชุมชนสุขภาพจิตดีได้ดังนี้ บ้านท่าลาด มี 4 โครงการ ได้แก่ 1) ครอบครัวมีสุข 2) มั่งมีศรีสุข 3) สุขภาพดีไม่มีโรคภัย 4) ชุมชนสามัคคี หลังจากดำเนินงานทำให้ชุมชนบ้านท่าลาดมีความชัดเจนในรูปแบบการออกกำลังกาย การประเมินสุขภาวะของครอบครัว การสื่อสารในครอบครัว การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และการพัฒนาชุมชนในการคัดกรองความฉลาดทางอารมณ์เด็กอายุ 3-5 ปี ส่วนที่บ้านโคกป่าจิกมี 5 โครงการ ได้แก่ 1) น้ำใจใสสะอาด 2) ชุมชนร่วมแรงร่วมใจพัฒนา 3) เศรษฐกิจดีอยู่กินดี 4) เพื่อสุขภาพ 5) สังคมพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุ หลังจากดำเนินงานทำให้ชุมชนบ้านโคกป่าจิกมีความชัดเจนในรูปแบบการเพิ่มรายได้ การแข่งขันกีฬา การออกกำลังกาย การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี การจัดตั้งกลุ่มให้การปรึกษากับผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและวัยรุ่นในชุมชน การกำหนดกิจกรรมเพื่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุ การตรวจมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเสี่ยง การมีน้ำดื่มที่ถูกสุขอนามัย การปรับปรุงแหล่งสาธารณูปโภค และการให้ความรู้เรื่องการเกษตรและการปลูกป่า ผลที่ได้จากการเรียนรู้สำหรับผู้ดำเนินโครงการ พบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดความร่วมมือและความก้าวหน้าของการดำเนินงานในชุมชนได้ดี คือ 1) ชุมชนขนาดเล็กหรือจำนวนหมู่บ้านเดียว 2) จำนวนประชากรน้อย 3) การเป็นชุมชนที่ผ่านการพัฒนามาบ้างเล็กน้อย 4) แกนนำชุมชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มีความมุ่งมั่น เสียสละและมีความเป็นผู้นำ 5) ความชัดเจนของผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากโครงการ 6) การเพิ่มรายได้ของชุมชน 7) บุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้การสนับสนุนอย่างสม่ำเสมอ 8) การเข้าร่วมกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ 9) การบันทึกการดำเนินงานทุกครั้ง 10) การเปลี่ยนแปลงของการเมืองท้องถิ่นที่เป็นนักการเมืองคนใหม่
ข้อเสนอแนะ
ควรมีการวางแผนการติดตามประเมินผลก่อนและหลังการดำเนินการ นำมาปรับปรุงแก้ไขจนได้ความเหมาะสมแล้ว.

Keywords: ชุมชนสุขภาพจิตดี, สุขภาพจิตชุมชน, สุขภาพจิต, ห้องปฏิบัติการ, ชุมชน, Com-Lab

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20050000254

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -