ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัญชุลี ประคำทอง และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มแบบมาราธอนต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 152.

รายละเอียด / Details:

บุคลิกภาพเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวเข้ากับคนในสังคมได้ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมาย (1) เพื่อศึกษาผลการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มแบบมาราธอน ที่มีต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียนกลุ่มเสพชั้นมัธยมปลายที่ผ่านค่ายบำบัดรักษาและ (2) เพื่อเปรียบเทียบบุคลิกภาพของนักเรียนกลุ่มเสพก่อนและหลังการให้คำปรึกษากลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนกลุ่มเสพชั้นมัธยมปลายที่ผ่านค่ายบำบัดรักษา ในอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 12 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 PF (16 personality Factors) ของ Raymond B.Cattel ซึ่งมีองค์ประกอบของบุคลิกภาพ 16 ด้าน ได้แก่ การเข้าสังคม สติปัญญา ความมั่นคงทางจิตใจ การกล้าแสดงออก ความร่าเริง มโนธรรม ความกล้าหาญ ความอ่อนโยน ความระแวง การจินตนาการ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ความวิตกกังวล ความอิสระเสรี การพึ่งตนเอง การควบคุมอารมณ์ และความเครียด รวม 187 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง .54 ถึง .93 และโปรแกรมการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มแบบมาราธอนที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นทั้งหมด 10 โปรแกรม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (Dependent Samples) ‹br>ผลการวิจัย
พบว่า นักเรียนกลุ่มเสพชั้นมัธยมปลายที่ได้รับการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มแบบมาราธอนเกิดการสร้างสัมพันธภาพที่ดี มีความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองในกลุ่ม มีความจริงใจ รู้จักตนเองมีความเข้าใจตนเอง และผู้อื่นมากยิ่งขึ้น จึงเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นผลให้มีการพัฒนาบุคลิกภาพของตนไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนภายหลังจากได้รับการให้คำปรึกษาแล้วมีการพัฒนาบุคลิภาพโดยรวมและเป็นรายด้าน 11 ด้าน คือ การเข้าสังคม สติปัญญา การกล้าแสดงออก ความร่าเริง ความกล้าหาญ ความระแวง การจินตนาการ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ความวิตกกังวลและความอิสระเสรี มีการพัฒนาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และด้านความเครียดมีการพัฒนาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มแบบมาราธอน ช่วยให้นักเรียนกลุ่มเสพชั้นมัธยมปลายที่ผ่านค่ายบำบัดรักษา ในอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีการพัฒนาบุคลิกภาพดีขึ้นในหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลมหาสารคาม ได้นำไปใช้พัฒนาบุคลิกภาพกับกลุ่มเสพอื่นๆ ภายหลังการบำบัดรักษา เพื่อพัฒนาบุคลิกภาพให้ดีขึ้น มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป

Keywords: การให้การปรึกษา, ปรึกษา, ให้การปรึกษาแบบกลุ่ม, บุคลิกภาพ, การให้คำปรึกษาเป็นกลุ่มแบบมาราธอน, กลุ่มเสี่ยง, เสพสารเสพติด, ยาเสพติด, สุขภาพจิต, ค่ายบำบัดรักษา, จิตวิทยา, การสร้างสัมพันธภาพ, กลุ่มบำบัด,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กลุ่มงานสุขภาพจิตและจิตเวช โรงพยาบาลมหาสารคาม

Code: 20050000255

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -