ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุทัยวรรณ ศรีสำราญ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมการเผชิญความเครียดของสมาชิกครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่ (Fast model) ณ สถาบันธัญญารักษ์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 149-151

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ‹br>ปัจจุบันครอบครัวประสบปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้โครงสร้างของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัวขึ้นหลายประการ เช่น ปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เยาวชนหันไปใช้ยาเสพติด นอกจากนี้การที่สมาชิกครอบครัวใช้ยาเสพติดยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว การบำบัดฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่ (FAST MODEL) เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบผู้ป่วยในที่เน้นให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการรักษา โดยผ่านกิจกรรมทั้งรายครอบครัวและรายกลุ่ม อย่างไรก็ตามการที่สมาชิกครอบครัวต้องดูแลผู้ป่วยอาจส่งผลให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดขึ้นได้ ผู้ศึกษาจึงต้องการศึกษาพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของสมาชิกครอบครัวผู้ดูแล เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดได้อย่างเหมาะสม
วัตถุประสงค์
เพื่อศึกษาคุณลักษณะของสมาชิกครอบครัวผู้ดูแล และผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่ ศึกษาคุณลักษณะของครอบครัว ได้แก่ คุณลักษณะทั่วไปของครอบครัว ความเครียดในครอบครัว ความเครียดด้านสิ่งแวดล้อมภายนอกครอบครัว และพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ดูแล
ขอบเขตการวิจัย
สมาชิกครอบครัวของผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่ในตึกโอปอ อัญมณี เก็จมณี พลอยรุ้ง ทองเนื้อเก้า และสมาชิกครอบครัวที่มารับการติดตามหลังการรักษาที่งานติดตามผล กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ สถาบันธัญญารักษ์ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2546
ระเบียบวิธีวิจัย
ตัวแทนสมาชิกครอบครัวจำนวน 131 คน โดยใช้วิธี การสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยตัวแปรต้น คือ คุณลักษณะของสมาชิกครอบครัวผู้ดูแล ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ สถานภาพของผู้ดูแลในครอบครัว คุณลักษณะของครอบครัว ได้แก่ รูปแบบของครอบครัว ความเครียดในครอบครัว สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกครอบครัวกับผู้ป่วยยาเสพติด และการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัว และ สิ่งแวดล้อมภายนอกครอบครัวที่ก่อให้เกิดความเครียดต่อผู้ดูแล ตัวแปรตามได้แก่ พฤติกรรมการเผชิญความเครียดของสมาชิกครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยยาเสพติด แบ่งออกเป็นการเผชิญความเครียดด้านการแก้ไขปัญหา และด้านการระบายอารมณ์
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้ดูแล คุณลักษณะของผู้ป่วย และคุณลักษณะของครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วย การทำหน้าที่ของครอบครัว ซึ่งผู้ศึกษาดัดแปลงจากแบบประเมินการทำหน้าที่ของครอบครัว CHULALONGKORN FAMILY INTERVENITON ของศาสตราจารย์อุมาพร ตรังคสมบัติ และศึกษาจากแนวคิดของ McMaster of Family Functioning หรือ MMFF สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกครอบครัวกับผู้ป่วยยาเสพติด ความเครียดในครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยยาเสพติด สิ่งแวดล้อมภายนอกครอบครัวที่ก่อให้เกิดความเครียดต่อผู้ดูแล และพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของสมาชิกครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยยาเสพติด จำนวน 97 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) (S.D.) ค่าที (T-Test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ( One way anova) และทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติโดยการคำนวณค่าเอฟ (F-Test) ที่ระดับ 0.05
ผลการวิจัย
สมาชิกของครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 46.38 ปี สถานภาพเป็นบิดามารดา (45.0%) จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (42.%) ประกอบอาชีพค้าขาย (22.1%) ข้อมูลด้านครอบครัวของผู้ดูแลพบว่า ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว (43.5%) รองลงมาได้แก่ ครอบครัวประเภทอื่นๆ ได้แก่ พ่อหรือแม่คนเดียวเลี้ยงลูก ครอบครัวที่ผู้ป่วยมาอยู่กับผู้ที่อุปการะ ครอบครัวที่ผู้ป่วยเป็นพี่น้องกัน เป็นต้น มีสมาชิกเฉลี่ยครอบครัวละ 4.98 คน รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครอบครัว 11,001 บาทขึ้นไป (54.2%) ข้อมูลของผู้ป่วยพบว่าส่วนใหญ่เป็นชาย (78.6%) อายุ 16-20 ปี ใช้ยาบ้า (66.4%) ใช้ยาเสพติดมาเป็นเวลา 1-2 ปี (25.2%) โดยไม่เคยเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในสถาบันธัญญารักษ์มาก่อน (61.1%) เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ ว่างงาน (58.0%) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพูดคุยหรือปรึกษามารดามากที่สุด รองลงมาได้แก่ บิดา และพี่น้อง ตามลำดับ
การทำหน้าที่ของครอบครัวผู้ดูแลโดยรวมอยู่ในระดับ X=3.29 โดยมีการทำหน้าที่ด้านบทบาทหน้าที่โดยเฉพาะด้านวัตถุดีที่สุด ส่วนด้านที่มีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ ด้านการควบคุมพฤติกรรมด้านสัมพันธภาพระหว่างครอบครัวกับผู้ป่วยยาเสพติดพบว่า สมาชิกครอบครัวมีสัมพันธภาพโดยรวมอยู่ในระดับดี 3.88 ดีที่สุดในด้านการชื่นชมและให้กำลังผู้ป่วย ส่วนด้านที่มีคะแนนน้อยที่สุดได้แก่ การทำกิจธุระแทนผู้ป่วย ในการศึกษาครั้งนี้พบว่าครอบครัวของผู้ดูแลทำหน้าที่และมีสัมพันธภาพกับผู้ป่วยอยู่ในระดับดีและปานกลาง ไม่พบครอบครัวที่ทำหน้าที่และมีสัมพันธภาพอยู่ในระดับไม่ดี ด้านความเครียดในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมภายนอกครอบครัวที่ก่อให้เกิดความเครียดกับผู้ดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับปานกลาง (X=2.41 และ X=2.39) โดยสมาชิกครอบครัวมีความเครียดด้านความวิตกกังวลว่าผู้ป่วยจะบำบัดรักษาไม่ครบและกลับไปติดซ้ำอยู่ในระดับมาก (X=3.59) และความเครียดเรื่องกลุ่มเพื่อนของผู้ป่วย ด้านพฤติกรรมการเผชิญความเครียดพบว่า ผู้ดูแลใช้ความเผชิญความเครียดด้านการแก้ปัญหามากกว่าการระบายอารมณ์ (X=2.97 และ 2.54) ซึ่งด้านการแก้ปัญหานั้นผู้ดูแลจะมีความพอใจที่ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่มากที่สุด ส่วนข้อที่ทำน้อยที่สุดคือการถกปัญหากับญาติผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้านการระบายอารมณ์ผู้ดูแลใช้วิธีการคิดถึงส่วนดีของผู้ป่วยมากที่สุด ส่วนข้อที่ใช้น้อยที่สุดคือการระบายความโกรธโดยการด่าว่าผู้ป่วย ข้อที่ผู้ดูแลส่วนใหญ่ไม่เคยทำเลย ได้แก่ การรับประทานยานอนหลับหรือยาระงับประสาท การทดสอบสมมติฐานพบว่า สมาชิกครอบครัวผู้ดูแลที่มีคุณลักษณะแตกต่างกัน ได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ สถานภาพในครอบครัวแตกต่างกัน สิ่งแวดล้อมภายนอกครอบครัวแตกต่างกัน และรูปแบบของครอบครัวแตกต่างกันมีพฤติกรรมการเผชิญความเครียดที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระบ 0.05 ส่วนครอบครัวที่มีการทำหน้าที่ และสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกครอบครัวกับผู้ป่วยแตกต่างกัน มีพฤติกรรมการเผชิญความเครียดที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำหน้าที่ของครอบครัวและสัมพันธภาพที่อยู่ในระดับดี จะมีพฤติกรรมการเผชิญควาเมครียดที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่าครอบครัวที่มีการทำหน้าที่และสัมพันธภาพระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วยที่ไม่ดี
ข้อเสนอแนะ
ควรจัดกิจกรรมให้กับสมาชิกครอบครัวผู้ดูแลผู้ป่วยยาเสพติด เช่น การฝึกทักษะในการจัดการกับความเครียด ความรู้ด้านการป้องกันการติดซ้ำให้กับสมาชิกครอบครัวเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยยาเสพติด จัดบริการให้คำปรึกษาผู้ป่วยและครอบครัวทั้งรายครอบครัวและรายกลุ่มเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกครอบครัวผู้ดูแลได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงการดูแลผู้ป่วยหลังการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มที่บำบัดรักษาครบขั้นตอนและไม่ครบขั้นตอนเพื่อป้องกันการติดซ้ำ.

Keywords: พฤติกรรมการเผชิญความเครียด, ผู้ป่วยยาเสพติด, สารเสพติด, สุขภาพจิต, ฟื้นฟูสมรรถภาพ, ครอบครัว, fast model, FAST MODEL, สถาบันธัญญารักษ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด จังหวัดเชียงใหม่

Code: 20050000256

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -