ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมพร วัฒนนุกูลเกียรติ, จิราวรรณ แท่นวัฒนกุล, กฤตยา แสวงเจริญ, นิลาวรรณ ฉันทะปรีดา , ภัณฑิลา อิฐรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดการทารุณกรรมและปล่อยปละละเลยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 18, (เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วไทยเฝ้าระวังภัยทั่วประเทศ) พฤษภาคม 25-27, 2548 ณ. Miracle Grand Hotel, Bangkok, Thailand, หน้า 116-117.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล องค์การอนามัยโลกได้จัดปัญหาการทารุณกรรมและปล่อยละเลยต่อเด็กเป็นปัญหาทางสุขภาพ ที่มีผลต่อสวัสดิภาพ สุขภาพ และการพัฒนาเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มี 4 รูปแบบ ได้แก่ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ จิตใจ ด้านเพศ และด้านปล่อยปละละเลย มีหลายทฤษฎีที่พยายามอธิบายปัจจัยที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ การถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน นิเวศวิทยามนุษย์ รูปแบบการเจ็บป่วยทางจิต และการใช้สารเสพติด เพื่อเป็นการหาข้อยืนยัน หาปัจจัยเสี่ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันจะเป็นแนวทางในการค้นหาและการป้องกันและความรุนแรงลดผลกระทบในระยะเริ่มแรก วัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงของเด็กจากการเกิดทารุณกรรมและปล่อยปละละเลยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิธีการศึกษาวิจัย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุ่มได้ 3 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด หนองคาย และนครราชสีมา สุ่มโรงเรียนในเขตเมืองและเขตชนบท จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 1,553 ราย เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2545 ใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น หาความเที่ยงโดยได้ค่าสัมประสิทธิ์อัลผ่าของครอนบาค เท่ากับ .90 ใช้สถิติ Logistic regression analysis ผลการศึกษา พบปัจจัยที่มีความเสี่ยงของการเกิดทารุณกรรมและปล่อยปละละเลยเด็กอย่างมีนัยทางสถิติที่ระดับ p=0.05 ดังนี้ด้านร่างกย ได้แก่ ลำดับการเกิด การเห็นคุณค่าในตนเอง สภาพการรู้หนังสือของมารดา ประวัติที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของมารดา บุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของมารดา การมีหนี้สินของครอบครัว เขตที่อยู่ ด้านอารมณ์/จิตใจ ได้แก่ อายุของเด็ก การเห็นคุณค่าในตนเอง ระดับการศึกษาของบิดา ประวัติที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของมารดา บุคลิภาพที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของมารดา สัมพันธภาพในครอบครัว เขตที่อยู่ ด้านเพศ ได้แก่ เพศของเด็ก และเด็กที่มารดามีประวัติเกี่ยวข้องกับความรุนแรง ด้านการปล่อยปละละเลย ได้แก่ เพศของเด็ก การเห็นคุณค่าในตนเอง ระดับการศึกษาของบิดา สภาพการรู้หนังสือของมารดา ประวัติที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของมารดา บุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของมารดา สัมพันธภาพในครอบครัว เขตที่อยู่ สรุปปัจจัยเสี่ยงของการเกิดทั้ง 4 รูปแบบมีความจำเพาะ และเป็นปัญหาที่ซับซ้อน มีปัจจัยด้านเด็ก บิดามารดา การมีหนี้สิน สัมพันธภาพในครอบครัว และเขตที่อยู่ การศึกษาครั้งนี้ได้รูปแบบของปัจจัยเสี่ยงเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเครื่องมือในการคัดกรองสำหรับบุคลากรทางสุขภาพที่จะให้ความช่วยเหลือในระยะเริ่มแรก ควรมีการศึกษาวิจัยในกลุ่มบิดามารดา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไวต่อความรู้สึก จึงเสนอแนะให้เก็บข้อมูลด้วยวิธีเชิงคุณภาพ จะได้ข้อมูลเชิงลึกได้สิ่งใหม่ๆ ที่ซ่อนเร้น และนำไปสู่การสร้างเครื่องมือและการเข้าถึงที่เหมาะสม

Keywords: การทารุณกรรมและปล่อยปละละเลยเด็ก, ปัจจัยเสี่ยง, ถูกทอดทิ้ง, ทารุณกรรม, เด็ก, สุขภาพจิต, ปัญหาสุขภาพจิต, ความรุนแรง, พฤติกรรมเสี่ยง, กลุ่มเสี่ยง, ระบาดวิทยา, สารเสพติด, ยาเสพติด,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 2005000026

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -