ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิมพ์ทอง เจ๊กจันทึก

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดในบทบาท พฤติกรรมเผชิญความเครียดและการสนับสนุนทางสังคม กับภาวะสุขภาพจิตของสตรีทำงานนอกบ้านเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

แหล่งที่มา/Source: วิทยานิพนธ์ เรื่องความเครียดในบทบาท พฤติกรรมเผชิญความเครียดและการสนับสนุนทางสังคม กับภาวะสุขภาพจิตของสตรีทำงานนอกบ้านเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2542 , 95 หน้า

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของงานวิจัย คือ เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพจิต และปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตของสตรี ที่ทำงานนอกบ้านขอบเขตในการวิจัย คือ สตรีที่สมรสแล้วและประกอบอาชีพ ซึ่งได้แก่อาชีพราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานธนาคาร บริษัท ลูกจ้างบริษัทเอกชน และครู -อาจารย์ โรงเรียน เอกชน ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) ได้จำนวน 212 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม ข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความเครียดในบทบาท แบบวัดพฤติกรรมเผชิญความเครียด แบบวัดความรับรู้เกี่ยวกับการสนับสนุนทางสังคม และแบบคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต (GHQ-30) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าว ยกเว้นแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ได้ผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรง (Content Validity ) และหาความเชื่อถือได้ (Reliability ) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย 1) สถิติพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 2) สถิติอ้างอิง ได้แก่ t-test , F-test (One Way ANOVA ), Chi-Square test, Pearson Product Moment Correlation, Stepwise Multiple Regression และ Multiple Logistic Regression ประมวลข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS FOR WINDOWS ผลการศึกษา พบว่าจำนวนรายได้ครอบครัวของสตรี และความเพียงพอของรายได้ในครอบครัว มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ความเครียดในบทบาทมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญสถิติ โดยสตรีที่มีความเครียดในบทบาทน้อยจะมีสุขภาพจิตดีกว่า สตรีที่มีความเครียดในบทบาทมากกว่า พฤติกรรมการเผชิญความเครียด มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสตรีที่มีพฤติกรรมเผชิญความเครียดได้มากจะมีสุขภาพจิตดีกว่า สตรีที่มีพฤติกรรมเผชิญความเครียดได้น้อยกว่า การได้รับการสนับสนุนทางสังคมของสตรี มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสตรีที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากมีสุขภาพจิตดีกว่า สตรีที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมที่น้อยกว่า และพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตของสตรี ได้แก่ ความเพียงพอของรายได้ในครอบครัวและพฤติกรรมเผชิญความเครียดของสตรี ผลการวิจัยทำให้ได้แนวทางในการส่เสริมสุขภาพจิตของสตรีโดยเฉพาะทักาะการเผชิญความเครียด

Keywords: สุขภาพจิต, ความเครียด, พฤติกรรมเผชิญความเครียด, สตรี

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20050000277

ISSN/ISBN: 974-293-103-8

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -