ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดวงตา ไกรภัสสรณ์พงษ์, อุทยา นาคเจริญ, สุภาพ เชาว์แก้ว, จันทร์พิมพ์ ศรีเสวกร์

ชื่อเรื่อง/Title: สุขภาพจิตและกลไกทางจิตของผู้ต้องขัง

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 18, (เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วไทยเฝ้าระวังภัยทั่วประเทศ) พฤษภาคม 25-27, 2548 ณ. Miracle Grand Hotel, Bangkok, Thailand, หน้า 182-183.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดอาจมีสุขภาพจิตที่ไม่ดี เนื่องจากสภาพสังคมในเรือนจำมีจำนวนผู้ต้องขังเป็นจำนวนมาก และขาดปัจจัยสนับสนุนทางสังคมหลายอย่าง การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตโดยการจัดให้มีโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพจิต เพื่อลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ การให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพจิต การใช้กลไกทางจิตและการก่ออาชญากรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพจิต กลไกทางจิต ความสัมพันธืระหว่างสุขภาพจิตกับการใช้กลไกทางจิต เปรียบเทียบสภาวะสุขภาพจิต กลไกทางจิตกับคดีของผู้ต้องขัง วิธีการศึกษา ศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำ และทัณฑสถานทั่วประเทศจำนวน 5,303 คน เป็นผู้ต้องขังชาย 4,313 คน ผู้ต้องขังหญิง 990 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธี Stratified Systematic Random Sampling เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามซึ่งประกอบด้วยข้อมูลทั่วไปและข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินสภาวะสุขภาพจิต โดยใช้ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยของอภิชีย มงคลและคณะ (2544) ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .93 และ แบบสอบถามกลไกทางจิต DSQ-40 ฉบับภาษาไทยของชัยยศ จิตติรังสรรค์ (2544) ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 84 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน Chi-square test-kruskal-wallis test และ spearman'Rho cvorrelation test ผลการศึกษา พบว่า สุขภาพจิตของผู้ต้องขังส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าคนทั่วไป (ร้อยละ 55.8) รองลงมามีสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป (ร้อยละ 34.4) ส่วนใหญ่มีทิศทางการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature defenses บ่อยที่สุด รองลงมาใช้กลไกทางจิตแบบ neurotic defense และ Immature defense ตามลำดับ สุขภาพจิตผู้ต้องขังมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการใช้กลไกทางจิตในระดับต่ำโดยที่ระดับความสัมพันธ์ของ Mature defenses สูงกว่า neurotic defenses (r=26 และ r=.13, P‹.001 ตามลำดับ) และมีความสัมพันธ์ทางลบกับการใช้กลไกทางจิต Immature defenses ในระดับต่ำ (r=-.10, P<.001) สภาวะสุขภาพจิตของผู้ต้องขังที่มีเพศและประเภทของคดีที่แตกต่างกันมีสภาวะสุขภาพจิตที่ไม่แตกต่างกัน กลุ่มผู้ต้องขังที่มีอายุน้อยกว่าและกลุ่มที่มีระดับการศึกษาต่ำมีความชุกของสุขภาพจิตระดับต่ำกว่าคนปรกติมากกว่ากลุ่มผู้ต้องขังที่มีอายุและระดับการศึกษาสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<.005) นักโทษเด็ดขาด ผู้ต้องขังที่ต้องโทษครั้งแรก และผู้ต้องขังที่มีคดีเดียวมีสุขภาพจิตดีกว่าผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา ผู้ต้องขังที่ต้องโทษมากกว่าหนีงครั้งและผู้ต้องขังที่มีหลายคดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<.05) สภาวะสุขภาพจิตของผู้ต้องขังไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเภทของคดีและจำนวนครั้งของการต้องคดี ผู้ต้องขังหญิงมีการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature Defenses, Neurotic Defenses และ immature Defenses บ่อยกว่า ผู้ต้องขังชาย ผู้ต้องขังที่มีอายุต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<.05) ผู้ต้องขังสูงอายุมีการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature Defenses, Neurotic Defenses สูงกว่าผู้ต้องขังที่มีอายุต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<.05) ผู้ต้องขังที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าใช้กลไกทางจิตแบบ Mature Defenses สูงกว่าผู้ต้องขังที่มีระดับการศึกษาอื่น (P=.000) ผู้ต้องขังที่มีระดับการศึกษาที่แตกต่างกันใช้กลไกทางจิตแบบ Immature Defenses ที่ไม่แตกต่างกันที่ระดับ P<.05 ผู้ต้องขังที่ต้องคดีมากกว่าหนึ่งครั้งมีการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature Defenses ต่ำกว่าผู้ต้องขังที่ต้องคดีครั้งแรก (P=.003) ผู้ต้องขังที่มีประเภทของคดีและจำนวนคดีที่ต่างกันมีการใช้กลไกทางจิตที่ไม่แตกต่างกัน ผู้ต้องขังไทยส่วนใหญ่มีสภาวะสุขภาพจิตที่ต่ำกว่าคนปรกติ มีการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature defense มากกว่า Neurotic Defenses และ Immature Defenses สุขภาพจิตผู้ต้องขังมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการใช้กลไกทางจิตแบบ Mature defenses และ Neurotic defenses และมีความสัมพันธ์ทางลบกับการใช้กลไกทางจิต Immature defense อายุ ระดับ การศึกษา จำนวนครั้งที่ต้องคดีมีความสัมพันธ์กับสภาวะสุขภาพจิต และการใช้กลไกทางจิตของผู้ต้องขัง

Keywords: สุขภาพจิต, กลไกทางจิต, ผู้ต้องขัง, จิตวิทยา, จิตเวชศาสตร์, โปรแกรมฟื้นฟู, สุขภาพจิต, อาชญากรรม, คดี, ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทย, สุขภาพจิตผู้ต้องขัง, ความชุก, ระบาดวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 2005000028

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -