ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เยาวดี พรศิริกาญจน์, ภาวิณี สัตย์ซื่อ

ชื่อเรื่อง/Title: บทบาทของชมรมสร้างสุขภาพในการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชน จังหวัดกาญจนบุรี

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 18, (เครือข่ายระบาดวิทยาทั่วไทยเฝ้าระวังภัยทั่วประเทศ) พฤษภาคม 25-27, 2548 ณ. Miracle Grand Hotel, Bangkok, Thailand, หน้า 134-135.

รายละเอียด / Details:

การสร้างสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินการรณรงค์สร้างสุขภาพทั่วไทย โดยส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพในรูปของชมรมสร้างสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนที่สนใจด้านสุขภาพรวมกลุ่มกันและมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่างๆ และตั้งแต่ปี 2545 เป้นต้นมากรมสุขภาพจิตได้ดำเนินโครงการสุขภาพใจในชุมชนทุกจังหวัด ๆ ละ 20-30 ชุมชน/ปี ซึ่งเน้นบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นแกนนำในการส่งเสริม ป้องกัน และดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของชมรมสร้างสุขภาพในการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชน จังหวัดกาญจนบุรี และส่งเสริมให้ชมรมสร้างสุขภาพมีแนวทางในการพัฒนางานสุขภาพใจในชุมชนที่มีประสิทิภาพยิ่งขึ้น การศึกษาครั้งนี้เป็นการดำเนินงานเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อม ๆกัน ทำให้เกิดชมรมสร้างสุขภาพที่เป็นต้นแบบในการดำเนินงานสุขภาพจิตในชุมชนของจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งทราบปัญหาอุปสรรค และแนวโน้มในการพัฒนางานที่ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน วิธีการศึกษา การศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ การสังเกต และการจัดสนทนากลุ่มผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตชุมชน สมาชิกชมรมสร้างสุขภาพและอาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งเก็บข้อมูลบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชน จากชมรมสร้างสุขภาพ โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย จำนวน 13 ชมรม จาก 13 อำเภอ ในจังหวัดกาญจนบุรี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบเก็บข้อมูลบริการชุมชน แบบสัมภาษณ์บทบาทของชมรมสร้างสุขภาพในการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชน แนวคำถามในการสนทนากลุ่มและการสัมภาษณ์เชิงลึก การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการประมวลวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) แยกแยะประเด็นหลักของการวิจัย นำมาวิเคราะหืเชื่อมโยงกับแนวคิดทฤษฎีและข้อมูลในภาคสนาม ผลการศึกษาพบว่า ชมรมสร้างสุขภาพมีการก้อตั้งโดยการสนับสนุนของเจ้าหนที่สาธารณสุขโดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขและแกนนำชุมชน ร่วมกันจัดตั้งและขยายเครือข่ายสมาชิกชมรมสร้างสุขภาพ มีโครงสร้างชัดเจน กิจกรรมของชมรมสร้างสุขภาพที่ปฏิบัติเป็นประจำคือการออกกำลังกาย ร้อยละ 53.8 รองลงมาคือการควบคุมป้องกันโรคร้อยละ 46.2 ส่วนกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพจิตในชุมชนนั้นมีการปฏิบัติเป็นประจำเพียงร้อยละ 15.4 เท่านั้น กิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพจิตคือ ด้านการพัฒนาเยาวชนเพื่อป้องกันการติดสารเสพติด ร้อยละ92.3 รองลงมาคือ การพูดคุยให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิตในชุมชนกลุ่มย่อย และการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วย พิการ หรือมีปัญหาสุขภาพจิต (ร้อยละ 84.6 และ 76.9 ตามลำดับ) ด้านบทบาทของชมรมสร้างสุขภาพในการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชน พบว่า ชมรมสร้างสุขภาพส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.9 มีการดำเนินงานส่งเสริมและป้องกันสุขภาพจิต นอกจากนี้ยังพบว่าชมรมสร้างสุขภาพได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและเครือข่ายต่างๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่นตำบลมากที่สุด ร้อยละ 76.9 รองลงมาคือ หน่วยงานภาครัฐอื่น ร้อยละ 53.8 และจากแหล่งอื่น รวมทั้งกรรมการและสมาชิกในชมรมสร้างสุขภาพนั้นเองด้วย สรุป จากการวิจัย ทำให้ทราบบทบาทของชมรมสร้างสุขภาพในการดำเนินสุขภาพจิตชุมชน เกิดชมรมสร้างสุขภาพที่เป็นต้นแบบในการดำเนินงานสุขภาพจิตในชุมชนของจังหวัดกาญจนบุรี จึงควรสนับสนุนชมรมสร้างสุขภาพในด้านวิชาการ งบประมาณ และอื่นๆ รวมทั้งควรเน้นการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนและประชาชน ขยายเครือข่ายแกนนำสุขภาพในชุมชน และสร้างโอกาสการเรียนรู้ด้านสุขภาพจิตชุมชน เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนอย่างต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน

Keywords: บทบาท, ชมรมสร้างสุขภาพ, สุขภาพจิตชุมชน, สุขภาพจิต, สุขภาพ, นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, เทคนิคการสนทนากลุ่ม, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี

Code: 2005000029

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: -