ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สารรัตน์ วุฒิอาภา

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้และพฤติกรรมการป้องกันสารเพสติดในนักเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 104. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยพบว่ากลุ่มเสี่ยงต่อการเสพสารเสพติดพบกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยพบเยาวชนเสพสารเสพติดครั้งแรกเมื่ออายุ 10 ปี การที่เด็กเสพสารเสพติดตั้งแต่อายุน้อย ย่อมบั่นทอนและทำลายพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและสังคม แต่ถ้าเด็กมีความรู้และพฤติกรรมการป้องกันเด็กจะหลีกเลี่ยงสารเสพติดซึ่งทักษะนี้จะเป็นฐานให้เขาเมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่มีความเสี่ยงสูงสุด วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความรู้และพฤิติกรรมการป้องกันสารเพสติดในนักเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ ขอบเขตการวิจัย ประชากรที่ศึกษาเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษา 1-6 โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2545 ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการวิจัยเป็นการศึกษาแบบพรรณนา (Descriptive study) กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับประถม โรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2545 ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น จำนวน 180 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับสารเสพติด และแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการป้องกันสารเสพติด วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความแตกต่างที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ด้วยสถิติ t-test และหาความสัมพันธ์ด้วยการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson's Product Moment Correlation Coefficient) สรุปผลการวิจัย ผลการศึกษาพบว่า 1. ความรู้เกี่ยวกับสารเสพติดของนักเรียนอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด และพฤติกรรมการป้องกันสารเสพติดอยู่ในระดับปานกลางถึงมาก 2. ค่าเฉลี่ยระดับความรู้และพฤติกรรมการป้องกันสารเสพติดระหว่างกลุ่มนักเรียนประถมศึกษาตอนต้น (ประถมปีที่ 1-3) และประถมศึกษาตอนปลาย (ประถมปีที่ 4-6) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. ระดับความรู้มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันสารเสพติดในทางบวกที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 (p‹.01) (r=.31**) ข้อเสนอแนะ จากผลการศึกษาพบว่าความรู้มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันสารเสพติดในทิศทางเดียวกัน นั่นคือระดับความรู้เพิ่มขึ้นจะนำให้ระดับพฤติกรรมการป้องกันสารเสพติดเพิ่มด้วย จึงควรมีการศึกษา เพื่อพัฒนาโปรแกรมที่มุ่งเน้นการเพิ่มระดับความรู้และทักษะการป้องกันสารเสพติดในนักเรียนระดับประถมศึกษา

Keywords: กลุ่มเสี่ยง, สารเสพติด, ผู้ติดยาเสพติด, เด็ก, วัยรุ่น, นักเรียน, พฤติกรรม,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Code: 00000014

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -