ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิลาวรรณ สมทรง

ชื่อเรื่อง/Title: การทดสอบทูเบอร์คูลินของเจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา

แหล่งที่มา/Source: วารสารวิชาการสาธารณสุข, ปีที่ 14, ฉบับที่ 1, มกราคม-กุมภาพันธ์ 2548, หน้า 209-215.

รายละเอียด / Details:

ปี 2540 – 2545มีเด็กพิการชายในสถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา (บ้านราชาวดีชาย) ป่วยเป็นวัณโรค จำนวน 29 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.61 ของเด็กพิการชายที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ทั้งหมดจำแนกเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอด 27 ราย วัณโรคนอกปอด 2 ราย ผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 7 – 31 ปี อายุเฉลี่ย 18 ปี มีความเป็นอยู่ทั่วไป สภาพแวดล้อมที่เสี่ยวต่อการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคไปสู่ผู้ดูแลเด็กหรือเจ้าหน้าที่อื่นได้ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบภาคตัดขวาง (cross-sectional study) ในเจ้าหน้าที่ของสถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา (บ้านราชาวดีชาย) จำนวน 108 ราย ในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับผลการทดสอบทูเบอร์คูลินของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ผลการศึกษา พบว่า เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา อายุ 31 – 46 ปีร้อยละ 53.7 เป็นเพศหญิงร้อยละ 85.2 ผลการทดสอบ ทูเบอร์คูลินเป็นบวก พบว่าเป็นเพศชายร้อยละ 87.5 สถานภาพสมรสคู่ร้อยละ 54.6 ผู้มีประวัติเคยได้รับวัคซีนบีซีจี การรักษาวัณโรค หรือสมาชิกในครอบครัวเคยรักษาวัณโรค มีผลทูเบอร์คูลินเป็นบวกสูงกว่า ลักษณะการทำงานที่ต้องดูแลใกล้ชิดเด็กพิการทางสมองและปัญญามีผลทูเบอร์คูลินเป้นบวกร้อยละ 68.7 ระยะเวลาที่ทำงานมากกว่า 5 ปี ให้ผลทูเบอร์คูลินเป็นบวกร้อยละ 70.2 ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการทดสอบทูเบอร์คูลินเป็นบวก ได้แก่ เพศ (P ‹ 0.05) และลักษณะการทำงาน (P < 0.03) เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา (บ้านราชาวดีชาย) มีผลการทดสอบทูเบอร์คูลินเป็นบวก คิดเป็นร้อยละ 63 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มประชาชนทั่วไป คือร้อยละ 30 ตามรายงานการสำรวจโดยกองวัณโรค ในปี 2535 เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ฯส่วนมากเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องทำงานดูแลเด็กพิการทางสมองและปัญญาอย่างใกล้ชิด จึงมีโอกาสที่รับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่ายกายส่งผลให้ผลทดสอบทูเบอร์คูลินเป็นบวกสูงกว่าบุคคลทั่วไป ดังนั้น ผู้ที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคจึงต้องสนใจดูแลสุขภาพของตนเองควรตรวจร่ายกายเป็นประจำทุกปี และหมั่นสังเกตอาการที่บ่งชี้ว่าป่วยเป็นวัณโรค เพื่อรับการรักษาก่อนที่จะแพร่เชื้อวัณโรคให้แก่บุคคลใกล้ชิดต่อไป

Keywords: การทดสอบทูเบอร์คูลิน, เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา, วัณโรค, ปัญญาอ่อน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20050000348

ISSN/ISBN: 974-506-393-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ วารสารวิชาการ

Download: