ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล, ทันตแพทย์หญิงนนทลี วีรชัย, แพทย์หญิงนันทา อ่วมกุล

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจความคิดเห็นและความต้องการเรียนรู้เรื่องสุขภาพผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของวัยรุ่น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 35-36.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัจจุบันกระแสแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต เป็นช่องทางการสื่อสารที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อการส่งผ่านความรู้สู่วัยรุ่น คณะผู้วิจัยจึงเห็นสมควรสำรวจความคิดเห็น/ความต้องการของวัยรุ่นในเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อนำข้อมูลมาเป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดกระบวนการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้เรื่องการส่งเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแก่วัยรุ่นต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความต้องการการเรียนรู้เรื่องสุขภาพผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของวัยรุ่น ขอบเขตการวิจัย ประชากรได้แก่ นักเรียน/นักศึกษาในกลุ่มโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ระเบียบวิธีวิจัย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียน/นักศึกษาในกลุ่มโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มชั้นภูมิ ในการเลือกเขตตัวอย่าง และใช้เทคนิคการกำหนดสัดส่วนตัวอย่างตามขนาดประชากร จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 1,498 ตัวอย่าง การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปริมาณ ใช้เทคนิควิธีการวิจัยเชิงสำรวจภาคสนาม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม ระยะเวลาสำรวจระหว่างวันที่ 4-29 พฤศจิกายน 2545 และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สรุปผลการศึกษา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 63.4) มีอายุระหว่าง 15-21 ปี (ร้อยละ 74.2) กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวส. (ร้อยละ 42.5, 20.8, 18.1 และ 8.9 ตามลำดับ) ส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่กับบิดา-มารดา (ร้อยละ 71.5) กิจกรรมที่ทำเป็นประจำทุกวัน/เกือบทุกวัน คือ ติดตามข่าวสารประจำวันผ่านสื่อมวลชน (ร้อยละ 64.2) ใช้เวลาว่างอยู่กับครอบครัว (ร้อยละ 60.1) และอยู่กับเพื่อนๆ (ร้อยละ 58.6) ในด้านพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ต พบว่าส่วนใหญ่ (ร้อยละ 89.6) เคยใช้อินเตอร์เน็ต นักเรียนและนักศึกษามีประสบการณ์เคยใช้อินเตอร์เน็ตในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยมีความถี่ในการใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 วัน โดยเฉลี่ย 2-5 ชั่วโมงต่อวัน และมักนิยมใช้อินเตอร์เน็ตที่บ้าน เว็ปไซด์ที่นิยมเช้าไปใช้บริการอันดับแรกคือ www.sanook.com รองลงมา คือ www.hotmail.com และ www.yahoo.com เหตุผลที่เข้าไปใช้เว็ปไซด์ดังกล่าวเพราะว่า 1) มีหัวข้อน่าสนใจ 2) สามารถสืบค้นข้อมูลได้ และ 3) มี e-mail ของเว็ปไซด์ และเหตุผลที่ใช้อินเตอร์เน็ต เพราะต้องการสืบค้นข้อมูล ตรวจจดหมายอิเลคทรอนิกส์ และอ่านบทความ/ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 70.5) ไม่เคยเข้าเว็ปสุขภาพ สำหรับความเห็นเกี่ยวกับเว็ปไซด์สุขภาพตามความต้องการพบว่าจะต้องมีรูปแบบหรือลักษณะที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้มากที่สุด รองลงมาคือมีหัวข้อที่สามารถค้นหาได้ชัดเจน มีสีสันสวยงาม มีห้องสนทนาสำหรับสอบถามพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ มีกระดานสำหรับกระทู้คำถาม และมีผู้เชี่ยวชาญมาตอบ โดยเรื่องที่ต้องการให้มีในเว็ปไซด์ตามลำดับดังนี้คือ 1) สุขภาพร่างกาย 2) สุขภาพจิต 3) ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และ 4) ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันและบำบัดรักษา โดยในด้านสุขภาพร่างกายต้องการให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแล/รักษาสิวฝ้ามากที่สุด รองลงมาคือการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและได้ผล การดูแลรูปร่างให้ได้สัดส่วน/การลดน้ำหนัก และการรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ สำหรับด้านสุขภาพจิต ต้องการให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่น การดูแลรักษาสุขภาพจิต และการทดสอบทางจิตวิทยา การป้องกันและบำบัดรักษา พบว่าต้องการให้มีรายละเอียดในเรื่องเกี่ยวกับเพศศึกษา วิธีการป้องกันโรคติดต่อที่เกิดจากเพศสัมพันธ์และวิธีคุมกำเนิด และเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องการรายละเอียดในเรื่องมลพิษภายในชุมชน ความสะอาดในชุมชนและขยะมูลฝอย ข้อเสนอแนะอินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสารและติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่สำคัญของวัยรุ่น ดังนั้น หากมีการประชาสัมพันธ์เว็ปไซด์ที่ดี มีการเชื่อมโยงไปยังเว็ปไซด์ที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้ จะทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเรียนรู้เรื่องส่งเสริมสุขภาพได้มากขึ้นนอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าในปัญหาสุขภาพบางเรื่อง เช่น เพศสัมพันธ์ กลุ่มวัยรุ่นจะไม่ปรึกษาใครเลย เว็ปไซด์สุขภาพจึงเป็นอีกช่องทางในการให้ข้อมูลและการปรึกษาได้ การจัดทำเว็ปไซด์สุขภาพให้ดึงดูดใจวัยรุ่น ควรมีเนื้อหาและรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ในรูปแบบของบันเทิงและวิชาการควบคู่กันไป มีสีสันสวยงาม มีห้องสนทนา มีกระดานตั้งกระทู้คำถาม มีการปรับปรุงข้อมูล/ความรู้ให้ทันสมัยและน่าสนใจสม่ำเสมอ

Keywords: อินเตอร์เน็ต, การสื่อสาร, วัยรุ่น, สุขภาพ, สุขภาพจิต, เพศสัมพันธ์, การเรียนรู้, เทคนโนโลยีการสื่อสาร, สารสนเทศ, การส่งเสริมสุขภาพ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย

Code: 2005000040

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -