ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พวงเพ็ญ กังวานสุระ

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 39.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ที่มีผลต่อน้ำหนักทารกแรกเกิดของหญิงที่มาคลอดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ กรมอนามัย ประชากรที่ศึกษาได้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพฯ และใช้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 335 คน ซึ่งคลอดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสัมภาษณ์หญิงหลังคลอด ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วนได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติระหว่างตั้งครรภ์ ความรู้และความเชื่อด้านสุขภาพ สถิติที่ใช้คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วยเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัย สรุปว่า หญิงที่มาคลอดที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ พบว่ามีอายุระหว่าง 25-29 ปี มากกว่ากลุ่มอื่น ประกอบอาชีพรับจ้าง การศึกษาส่วนมากจบระดับประถมศึกษา หรือต่ำกว่ารายได้ของครอบครัวเฉลี่ย 10,000 บาท/เดือน และน้อยกว่า 3,000 บาท/เดือน ในอัตราที่เท่ากัน การตั้งครรภ์พบครรภ์ที่ 2 ทารกแรกเกิดน้ำหนัก 3,000 กรัมขึ้นไป ส่วนมากใกครรภ์ครั้งแรกในช่วง 3เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และ ฝากครรภ์ครบตามเกณฑ์ ในระหว่างตั้งครรภ์จนถึงคลอด หญิงมีครรภ์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10-15 กิโลกรัม ได้รับยาบำรุงครรภ์สม่ำเสมอระหว่างตั้งครรภ์ ผลการตรวจความเข้มข้นของเลือดส่วนมากปกติ การบริโภคอาหารส่วนมากบริโภคไข่ นม เนื้อสัตว์ ข้าว ผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น ไม่บริโภคสารเสพติดต่างๆ เช่น ชา กาแฟ ลิโพวิตันดี ยาดองเหล้า น้ำอัดลม และบุหรี่ ส่วนการพักผ่อนจะนอนกลางวันสัปดาห์ละ 4-6 วันๆ ละ 1-3 ชั่วโมง นอนกลางคืน 8-10 ชั่วโมง ส่วนมากสุขภาพปกติ ไม่เจ็บป่วย ไม่ใช้ยานอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ ส่วนโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ พบโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด หญิงมีครรภ์มีความรู้และความเชื่อด้านสุขภาพขณะตั้งครรภ์อยู่ในระดับปานกลาง ถึงระดับต่ำ จากการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักทารกแรกเกิดได้แก่ จำนวนบุตรมีชีวิต การบริโภคไข่ขณะตั้งครรภ์ น้ำหนักของมารดาที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ และการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง โดยพบว่า น้ำหนักของมารดาที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์ทำนายน้ำหนักทารกแรกเกิดได้ดีที่สุด ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไปควรมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องโดยเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก ระหว่างทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกับทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักเหมาะสมกับอายุครรภ์ในวัยต่างๆ

Keywords: ทารก, ตั้งครรภ์, สุขภาพ, พัฒนาการ, ครอบครัว, การส่งเสริมสุขภาพ, ความเชื่อ, หญิงหลังคลอด, ความสุข, สุขภาพจิต, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: ศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย

Code: 2005000043

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -