ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อ้อมทิพย์ พันธ์ศิริ

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้และพฤติกรรมการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมระยะแรก

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 40-41.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ภาวะสมองเสื่อม (dementia) เป็นกลุ่มอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัยแต่จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุยิ่งอายุมากก็ยิ่งมีความเสี่ยงโดยสามารถพบภาวะสมองเสื่อมในอายุ 65 ปี ข้นไปร้อยละ 1-6 และพบได้ร้อยละ 10-20 ของคนอายุ 80 ปีขึ้นไป ลักษณะภาวะสมองเสื่อมจะมีความบกพร่องของความจำระยะสั้นและระยะยาว ความเฉลียวฉลาด บุคลิกภาพลและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป การตัดสินใจ การใช้เหตุผลและพฤติกรรมทั่วๆ ไปเสื่อมลง ความสามารถทางเชาว์ปัญญา มีความเสื่อมถอย แบะมีความรุนแรงจนทำให้มีผลเสียหายต่อหน้าที่การงาน สังคม และสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ภาวะสมองเสื่อมพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ร้อยละ 25 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้เกิดจากโรคที่รักษาหายได้ และพบว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วย สามารถรักษาให้หายขาดได้ พบว่าภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ถึงร้อยละ 50 คือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheirmer) สาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะสมองเสื่อมไม่สามารถรักษาให้หมดไปได้ และขณะเดียวกันก็ไม่สามารถหาทางป้องกันได้เพราะไม่ทราบสาเหตุเบื้องต้นของการเกิดโรคที่แน่นอนได้ การรักษาโดยการใช้ยาจึงเป็นการประคับประคองอาการเพื่อมุ่งรักษาตามอาการที่แสดงออกไม่ได้เป็นการรักษาภาวะสมองเสื่อมโดยตรง ดังนั้นครอบครัวจึงมีบทบาทที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วยและสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ป่วยควรได้รับจากครอบครัวคือความรัก ความเอาใจใส่จากครอบครัว ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้ดูแลมีความรู้ความเข้าใจและทัศนคติไม่ดีต่อโรค อันเนื่องมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ทำให้ผู้ดูแลเข้าใจว่าการกระทำต่างๆ เป็นปัญหาด้านนิสัยและพฤติกรรมส่วนบุคคล เกิดความเบื่อหน่านยขาดการยอมรับในตัวผู้ป่วย และอาจนำไปสู่การทารุณกรรมทั้งทางด้านร่างกาย วาจา และจิตใจ ในที่สุดอาจจะเข้าสู่ภาวการณ์ละเลยทอดทิ้งผู้ป่วยได้ วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาระดับความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมของผู้ดูแล 2. เพื่อศึกษาระดับพฤติกรรมการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ขอบเขตการศึกษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความรู้และพฤติกรรมการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมระยะแรกเฉพาะบิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลหลักและพาผู้ป่วยมารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกหรือมาติดต่อเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยในตึกฟื้นฟูสมรรถภาพทางสมอง โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และเป็นผู้ป่วยในชมรมญาติและผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมโรงพยาบาลจิตเวชสงขลานครินทร์ วิธีการศึกษา เป็นแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับความรู้ และพฤติกรรมการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โดยแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับความรู้ สร้างจากการทบทวนเอกสาร งานวิจัย และจากคู่มือมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม (โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 2544) สำหรับแบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับการดูแลและพฤติกรรมการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมพัฒนาจากแนวคิดหลักของทฤษฎีการดูแลระหว่างบุคคลของวัตสัน (Watson 1985) เครื่องมือประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป เป็นลักษณะคำถามที่มีทั้งให้เลือกตอบและเติมคำ มีจำนวน 14 ข้อ ส่วนที่ 2 แบบสัมภาษณ์ความรู้เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม และความรู้ในการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมของผู้ดูแล มีจำนวน 24 ข้อ ข้อลักษณะคำถามให้เลือกตอบถูกหรือผิด ส่วนที่ 3 พฤติกรรมการดูแลของผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจำนวน 53 ข้อ เป็นลักษณะคำถามให้เลือกตอบว่า ปฏิบัติเป็นประจำไม่สม่ำเสมอหรือไม่ได้ปฏิบัติ สรุปผลการศึกษา ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60 มีความรู้เกี่ยวกับโรคอยู่ในระดับปานกลางและร้อยละ 62.6 มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลอยู่ในระดับดี กลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรม การดูแลโดยรวมในระดับปฏิบัติเป็นประจำ(X=1.49,SD=0.35) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านที่มีการปฏิบัติเป็นประจำคือด้านการตอบสนองความต้องการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (X=1.59,SD=0.34) ด้านการให้ความเมตตาต่อผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (X=1.58, SD=0.30) ด้านการให้กำลังใจและความหวัง (X=1.56, SD=0.33) ด้านช่วยให้เกิดการจัดหรือปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เกิดความรู้ปลอดภัย (X=1.54, SD=0.28) ด้านการมีสัมพันธภาพที่สม่ำเสมอและจริงใจ (X=1.53, SD=0.36) ด้านการแก้ไขโดยใช้เหตุผลชี้แนะหรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (X=1.52,SD=0.44) ด้านการสังเกต และตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมอย่างทันท่วงที (X=1.42,SD=0.38) ด้านช่วยให้เกิดการพัฒนาความสามารถในการดูแล (X=1.26,SD=0.38) สำหรับด้านที่มีการปฏิบัติไม่สม่ำเสมอคือ ด้านการแสดงการยอมรับพฤติกรรมของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ทั้งด้านบวกและด้านลบ (X=1.10, SD=0.34) และด้านการค้นหาความหมายในชีวิตของตนเอง (X=0.94,SD=0.38) ข้อเสนอแนะ 1. พัฒนารูปแบบการให้ความรู้โดยเฉพาะเรื่องโรคสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้ดูแลได้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ดูแลดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมได้ดียิ่งขึ้น 2. จัดให้มีการอบรมการให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมกับผู้ดูแลอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1ครั้ง เพื่อให้ผู้ดูแลได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมยอมรับพฤติกรรมการแสดงออกของผู้ป่วยทั้งด้านบวกและด้านลบ เพื่อเพิ่มความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยและลดความเครียดของผู้ดูแล 3. จัดกิจกรรมให้เหมาะสมไม่ซับซ้อนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมของผู้ดูแลและผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม เพื่อฝึกทักษะส่งเสริมการเรียนรู้และความจำ หางานอดิเรกให้ผู้ป่วยทำเป็นแนวทางและเพิ่มทักษะในการดูแล ให้ผู้ป่วยได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมในสังคมและชุมชน เพื่อให้ผู้ป่วยได้พบปะพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนบ้าน

Keywords: ภาวะสมองเสื่อม, โรคสมองเสื่อม, ความเครียด, พฤติกรรม, ความรู้, ผู้ป่วย, อารมณ์, สัมพันธภาพ, ความรุนแรง, ผู้สูงอายุ, โรงพยาบาลจิตเวชสงขลานครินทร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์

Code: 2005000044

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -